ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปลุกพลังบวกของคนรัก “แอนิเมชั่น”

Logo Thai PBS
ปลุกพลังบวกของคนรัก “แอนิเมชั่น”

เชื่อว่า “แอนิเมชั่น” เป็นสื่อที่มีพลังในการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ไปสู่เด็กและเยาวชน ดังนั้น การสร้างนักแอนิเมชั่นที่มีฝีมือ และมีจิตอาสาเพื่อผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน

 บริษัท Sputnik Tales จึงร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)  จัดกิจกรรม Thailand Animator Festival   ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า เพื่อจัดแสดงผลงาน แอนิเมชั่นสร้างสรรค์สังคมจากแอนิเมเตอร์จากทั่วประเทศ

รัฐ จำปามูล ผู้ก่อตั้ง Sputnik Tales Studio เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยจัดประกวดผลงานในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งเป็นการจัดประกวดผลงานที่ไม่มีกรอบ กฎเกณฑ์ และกติกาใด ๆ เพื่อเปิดกว้างและให้อิสระกับคนทำแอนิเมชั่นได้อย่างเต็มที่ และจากผลการดำเนินงานในปีแรก ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีกลุ่มคนทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นเพื่อสังคมอยู่จำนวนมาก  ผลงานในปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นตัวคน เห็นกลุ่ม...และก็พบว่า บ้านเรามีกลุ่มคนใช้แอนิเมชั่นทำงานทางสังคมอยู่ค่อนข้างมาก...ซึ่งการจัดงานครั้งแรกเป็นเสมือนสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มคนทำแอนิเมชั่นว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานกันอย่างลำพัง ยังมีกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายกัน และองค์กรภาคีต่าง ๆ เห็นความสำคัญและลงมาให้การสนับสนุนไมว่าจะเป็นมูลนิธิสยามกัมมาจล สสส. หรือแม้แต่ บริษัทแอนิเมชั่นชั้นนำของประเทศไทย 
ผู้ก่อตั้ง Sputnik Tales Studio เจ้าของไอเดีย Thailand Animator Festival ยังบอกอีกว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งที่ 2 จะเข้มข้นมากกว่าปีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้ารอบการประกวดจะมีโอกาสเข้ารับการผึกอบรมจาก แอนิเมเตอร์มืออาชีพ อาทิ Beboyd CG จำกัด บริษัทแอนิเมชั่นชื่อดังของ บอย โกสิยพงษ์  นักร้อง นักแต่งเพลง ชั้นแนวหน้าของไทย หรือ บริษัท Lunchbox Studio คลื่นลูกใหม่ในวงการแอนิเมชั่น  เพราะงานนี้ไม่ได้มีรางวัลเป็นตัวเงิน แต่มีรางวัลเป็นโอกาสที่จะเติบโตในสายงานแอนนิเมชั่น...โดยผู้ที่เข้ารอบ จะมีโอกาสเข้าค่ายอบรมการทำแอนิเมชั่นจากแอนิเมเตอร์ ระดับแถวหน้าของประเทศ และยังมีโอกาสนำภาพยนตร์ของตัวเองไปจัดแสดงในเทศกาลที่จัดขึ้นต้นเดือนมิถุนายนนี้ 
เข็มพร  วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า  รูปแบบการสื่อสารของโลกยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เยาวชนได้เปลี่ยนตัวเองจากด้วยการเปลี่ยนจากผู้รับสาร มาเป็นผู้ผลิตสื่อ ดังนั้นในฐานะที่เป็นองค์กรด้านการสื่อสารจึงอยากสนับสนุนให้น้อง ๆ กลุ่มนี้เติบโตไปเป็นผู้ผลิตที่มีคุณภาพในอนาคต 
“เพราะแต่เดิมแอนิเมชั่น เป็นเรื่องของมืออาชีพที่มีเครื่องไม้เครืองมือราคาแพง แต่ปัจจุบันตัวเทคโนโลยีทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาใช้เครื่องมือได้อย่างเต็มที่  เมื่อนำมาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ที่มีความหลากหลายทำให้ผลิตผลงานออกมาได้ตรงใจกับกลุ่มผู้รับสารที่หลายหลายเช่นเดียวกัน อีกประการที่สำคัญคือ อยากให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มอื่นที่มีสื่อและความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว ได้มีการรวมกลุ่มและลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวดี ๆ สู่สังคมมากขึ้น...เพราะรุ่นพี่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ยากเท่าไหร่หากจะเข้ามาเป็นแอนิเมเตอร์อาชีพ ขณะเดียวกันก็อยากให้เห็นว่าสื่อของเรามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้” 
ศศิพิชญ์  รุจิรัตน์ ตัวแทนจาก บริษัท Beboyd CG จำกัด กล่าวถึงการเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้สนับสนุนโครงการ Thailand Animator Festival # 2  ของ Animator  รุ่นใหม่ว่า ทางทีมงาน   Beboyd CG  มองว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยผลักด้นให้งานแอนิเมชั่นของไทยมีการพัฒนาทัดเทียมกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงเข้ามาร่วมสนับสนุนชุดความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำแอนิเมชั่น โดยจะจัดส่งทีมงานไปเป็นวิทยากรอบรมน้อง ๆ ในวันเข้าค่าย...
“สิ่งสำคัญของการทำแอนิเมชั่นคือการทำงานเป็นทีม...เพราะส่วนใหญ่ที่ส่งงานเข้ามาประกวดทำงานกันคนเดียว”   
 
เช่นเดียวกับ ทินกรรต์ หล่อศรีศุภชัย จาก  Lunchbox studio บอกว่า งานนี้จะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้วงการแอนิเมชั้นไทยเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยงานใหการสนับสนุน  ในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงการแอนิเมชั้นมาก่อนก็ต้องลงมาช่วย...เพราะเชื่อว่างานที่น้อง ๆ ร่วมกันทำ..มันจะออกมาดี ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ผู้ใหญ่ต้องให้การสนับสนุนๆ  
 
ส่วนขององค์กรสนับสนุนหลักอย่างมูลนิธิสยามกัมมาจล   คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร์ ผู้จัดการมูลนิธิฯ กิจกรรมในลักษณะนี้เป็นการยกย่องคนทำงานทางสังคมในด้านการผลิตสื่อแอนิเมชั่น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างพื้นที่ให้เยาวชนนักทำแอนิเมชั่นมาพบปะพูดคุย ชวนกันทำกิจกรรมดี ๆ เพื่อสังคม 
 
 “เด็กเหล่านี้ส่วนมากมีความรู้ด้านการเทคนิค แต่ถ้าจะพัฒนาตัวเองให้เด็กเก่งไปเรื่อย ๆ ต้องเห็นเรื่องราวเห็นโจทย์ทางสังคม และต้องเข้าไปศึกษา ซึ่งจะทำให้พวกเขาเห็นงานที่ซับซ้อนหรือเห็นโจทย์แอนิเมชั่นที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  เด็กก็จะได้พัฒนางานตัวเองจากตรงนั้น...ซึ่งถ้าไม่มีกิจกรรมแบบนี้ เด็กก็จะรู้แต่เรื่องเทคนิค เอาเทคนิคมาประกอบกัน ก็จะเห็นงานเป็นส่วน ๆ  ดังนั้นกิจกรรมแบบนี้เป็นประโยชน์หลายประการ ทั้งการสร้างเด็กรุ่นใหม่  สุดท้ายมันก็เป็นที่พบปะของคนคอเดียวกัน เกิดเป็นเครือข่าย และเครือข่ายแบบนี้จะเติบโตออกไปเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต” 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง