จับกระแส Cloud Computing ดีอย่างไร?..
โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงต่อเนื่องและมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะประโยชน์ทางด้านต้นทุน โดยระบบดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมขนาดเล็กมีโอกาสใช้ IT มากขึ้น ผู้พัฒนา ซอฟต์แวร์บน Cloud Computing เติบโต และผู้ผลิตอุปกรณ์หน่วยความจำอย่าง Hard Disk Drive (HDD) และ Solid State Drive (SSD) ได้รับประโยชน์
Cloud Computing คือเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานบนคอมพิวเตอร์จากการมีเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว ไปเป็นการเก็บข้อมูล และประมวลผลผ่านระบบของผู้ให้บริการ (Cloud Provider) ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถซื้อหรือเช่าบริการเท่าที่ต้องการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดการ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอย่าง Computer Smartphone หรือ Tablet
Cloud Computing ที่เป็นระบบสาธารณะมีแนวโน้มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็ก Cloud Computing สามารถแบ่งออกเป็นระบบคลาวด์ส่วนบุคคล (Private Cloud) และระบบคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) ซึ่งระบบคลาวด์ส่วนบุคคลเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้งานและบริหารจัดการกันเองภายในองค์กร โดยระบบสามารถติดตั้งภายในหรือภายนอกองค์กรก็ได้ แต่ใช้งานผ่าน Private network ซึ่งข้อดีของระบบคลาวด์ส่วนบุคคลคือมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากสามารถควบคุมระบบภายในของตนเอง
แต่ข้อด้อยคือมีต้นทุนการใช้งานค่อนข้างสูงต่างจากระบบคลาวด์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้งานของระบบการเก็บข้อมูล การประมวลผล ร่วมกันหลายๆองค์กรโดยมี Cloud provider เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดย Cloud provider จะเป็นผู้กำหนดสิทธิ์การใช้ทรัพยากรของระบบให้แก่ผู้ใช้แต่ละราย ทำให้ระบบคลาวด์สาธารณะได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากการเติบโตของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต และการใช้อุปกรณ์พกพาอย่าง Smartphone และ Tablet ที่ทำให้ความต้องการการเข้าถึงข้อมูลทุกที่ทุกเวลาของผู้ใช้งานมีจำนวนสูงขึ้น และนอกจากจะตอบสนองความต้องการดังกล่าวแล้ว Cloud Computing ยังถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการลงทุนด้าน IT
Cloud Computing ติด 1 ใน 10 เทคโนโลยีมาแรงติดต่อกันตั้งแต่ 2009 และยังคงแรงต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายของบริการ Cloud ทั่วโลกจะเติบโตจาก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2011 เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัย International Data Corporation (IDC) ซึ่งการเติบโตดังกล่าวคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี (CAGR) สูงกว่าการเติบโตในค่าใช้จ่ายใน Traditional IT[1] ถึง 6 เท่า ซึ่ง Cloud มีรูปแบบการให้บริการ 3 รูปแบบด้วยกันขึ้นกับการใช้งาน ซึ่งการให้บริการซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Software as a service, SaaS) เช่น Salesforce หรือ Google Apps จะมีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาการให้บริการ Cloud ทั้งหมดและคาดว่าจะเติบโต 18% ต่อปีในอีก 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองขึ้นใช้งานและมีความเสี่ยงน้อย
ขณะที่การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure as a service (IaaS) จะเติบโตสูงที่สุดที่ 43% และจะทำให้ Cloud เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นเมื่อเทียบกับการให้บริการ Cloud รูปแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้บริการที่ผู้ให้บริการจัดเก็บ ประมวลผล สำรองข้อมูลให้ในยามฉุกเฉิน บริษัทสามารถเพิ่มและลดพื้นที่ได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องลงทุนฮาร์ดแวร์เอง
ในขณะที่การให้บริการ Platform as a service (PaaS) หรือการให้บริการเครื่องมือในการสร้าง Application มีแนวโน้มเติบโตดี แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเนื่องจากเครื่องมือและเทมเพลตสำหรับการสร้างซอฟต์แวร์ที่ผู้ให้บริการนำเสนออาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน จึงทำให้มีปัญหาด้านความยืดหยุ่นน้อย
ปัจจัยด้านต้นทุนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มใช้ Cloud Computing มากขึ้น ปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ใช้พื้นที่บนฮาร์ดดิสก์เพียง 30-40% เท่านั้นและบางอย่างเป็นข้อมูลซ้ำ ซึ่งทำให้การใช้งานไม่คุ้มกับการลงทุนด้าน IT ของบริษัท ประกอบกับบริษัทขนาดเล็กไม่สามารถนำ IT เข้ามาใช้ได้มากเท่าที่ควรเพราะข้อจำกัดทางด้านเงินทุน
ดังนั้น Cloud Computing จึงเป็นระบบที่ตอบโจทย์ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในการลงทุนด้าน IT ลงไปได้ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง 11 บริษัทที่ใช้บริการของ Amazon Web Services พบว่า ต่อ 1 Application ที่บริษัทใช้บริการของ Amazon Web Services นั้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมกว่า 70% หรือเฉลี่ย 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้งานด้าน IT แบบดั้งเดิม โดยบริษัทจะไม่มีต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแล ซ่อมแซมระบบ รวมทั้งต้นทุนพัฒนา Application ไปได้ถึง 60% (รูปที่ 2 และ 3)
ธุรกิจในไทยเล็งเห็นความสำคัญของระบบ Cloud มากขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2011 การใช้จ่ายในระบบ Cloud Computing ของไทยเติบโตจาก 32% เป็น 50% ในปี 2012[2] ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ Cloud เติบโตดี คือหลายบริษัทที่ประสบปัญหาเซิร์ฟเวอร์ได้รับความเสียหาย ข้อมูลที่สำคัญไม่สามารถกู้คืนมาได้ จึงเริ่มเห็นถึงความสำคัญของ Cloud computing ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบธุรกิจผลิตโฟมและบรรจุภัณฑ์ในไทยแห่งหนึ่งที่ทำรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ประสบปัญหาน้ำท่วมในโรงงานที่ทำการผลิต แต่ข้อมูลทางการผลิตและข้อมูลการเรียกเก็บเงินลูกค้าไม่สูญหายเลย เนื่องจากบริษัทใช้บริการ Cloud Computing ที่มีเซิร์ฟเวอร์และฐานข้อมูลทุกอย่างอยู่ใน Data Center ของผู้ให้บริการ Cloud จึงทำให้บริษัทกลับมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
แต่ปัญหาเรื่อง ระบบโครงข่ายการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของไทย ความปลอดภัยของข้อมูล และการสนับสนุนจากภาครัฐยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไทยมีการใช้ Cloud Computing เป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากการวิเคราะห์ดัชนีความพร้อมของการใช้งาน Cloud Computing ของประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่จัดอันดับโดย Asia Cloud Computing Association คิดจากความพร้อมในการใช้งาน Cloud Computing ในด้านต่างๆ เช่นความปลอดภัยของข้อมูล ความพร้อมของระบบ Broadband เป็นต้น
โดยพบว่าไทยถูกจัดอันดับไว้อยู่ในกลุ่มรั้งท้ายที่สุดทั้งในด้าน Index และการคาดการณ์การใช้จ่าย โดยไทยจะมีการใช้จ่ายใน Cloud Computing ไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 ขณะที่จีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมอยู่ในระดับปานกลาง แต่คาดการณ์ปี 2013 จะมีการใช้งาน Cloud Computing สูงมาก เนื่องจากจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ยกตัวอย่างในปี 2012 บริษัทโทรคมนาคม 3 แห่ง มีการลงทุนใน Cloud Computing รวม 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นกว่า 60% ของการลงทุน Cloud ทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน 86% ของบริษัทชั้นนำในอินเดียเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ต หรือผู้ให้บริการด้านการพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองประเทศดังกล่าวมีการใช้จ่าย Cloud Computing สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ และหากเทียบกับประเทศในเอเชียที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย จะมีการใช้จ่ายในระบบดังกล่าวตั้งแต่ 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีความพร้อมใน Cloud Computing สูงกว่าไทย
ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยยังไม่นิยมใช้ Cloud Computing มากนัก เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในการพัฒนาระบบโครงข่าย ความปลอดภัยของการดูแลข้อมูลที่ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความไว้วางใจ และการขาดแรงสนับสนุนการลงทุนจากทางภาครัฐ
SMEs ควรนำระบบ Cloud Computing มาใช้งาน IT มากขึ้น เนื่องจากลักษณะของการจ่ายตามที่ใช้งานเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนอย่าง SME ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลสำหรับการใช้งานใน Scale เล็ก ซึ่งจากข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีการจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ในปี 2010 พบว่า SMEs ที่หันมาใช้ระบบ Cloud Computing นั้น สามารถประหยัดเงินลงทุนได้เฉลี่ยต่อโรงงานประมาณ 3 แสนบาท เมื่อเทียบกับการลงทุนซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาติดตั้งโดยตรง ค่าจ้างพนักงานด้าน IT และค่าบำรุงรักษารายปี ซึ่งการนำ IT มาใช้งาน น่าจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มประสิทธิภาพและสามารถมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจโดยไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการด้าน IT นอกจากนี้การประมูล 3G ที่เสร็จสิ้นไปนั้นเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบ Cloud เนื่องจากจะทำให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจมากขึ้น
ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ควรเน้นการพัฒนาบนระบบคลาวด์มากขึ้น จากการเติบโตของการใช้งาน Cloud Computing การเติบโตของ Tablet และ Smartphone และการเตรียมพร้อมสำหรับ AEC ส่งผลให้องค์กรยอมรับ Cloud Computing รูปแบบ Software-as-a-service มากขึ้น โดยเฉพาะซอฟต์แวร์การจัดการองค์กรและซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ควรที่จะปรับตัว ศึกษา และลงทุนพัฒนา Application ใหม่ๆ ที่ใช้งานบนระบบ Cloud เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดส่วนนี้
ผู้ผลิตอุปกรณ์หน่วยความจำอย่าง Hard Disk Drive (HDD) และ Solid State Drive (SSD) ได้รับประโยชน์ เทคโนโลยี Cloud Computing จะดึงดูดให้บริษัทต่างๆ เริ่มใช้บริการจาก Cloud Provider มากขึ้นเพื่อประหยัดต้นทุน
ดังนั้นผู้ผลิต HDD จะยังคงได้ประโยชน์จากการเติบโตของบริการดังกล่าวเพราะนั่นหมายถึงความต้องการหน่วยความจำจำนวนมาก นอกจากนั้นปริมาณการขายสินค้า SSD สำหรับเซิร์ฟเวอร์ ใน Enterprise มีโอกาสเติบโตสูง คิดเป็นการเติบโต 63% เฉลี่ยต่อปี (CAGR 2009-2014F) จากการคาดการณ์ของ IHS iSuppli เนื่องจาก Cloud Provider หลายบริษัทเห็นประโยชน์ด้านความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและการประหยัดพลังงานจึงนำ SSD มาใช้ควบคู่กับ HDD ที่มีความจุสูงเพื่อประโยชน์ทั้งในการเก็บข้อมูลและการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์