ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 กองทัพต้องใช้กำลังพล มากถึง 16 กองพันเข้าไปดูแลความเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็ได้จัดกำลังเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจในอำเภอหาดใหญ่ โดยการขุดลอกคลองสำคัญเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล หลังไม่เคยขุดลอกมานานถึง 25 ปี
สถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่สงขลา หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ บางจุดท่วมสูงถึง 3 เมตร มีข้อมูลความเสียหายในปี 2543 กว่า 13,000 ล้านบาทและปี 2553 กว่า 20,000 ล้านบาท รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอนาทวี นาหม่อม กระแสสินธุ์ รอบทะเลสาบสงขลา และ อำเภอสะเดา ต้นทางคลองอู่ตะเภา คลองสายหลักที่ผ่านอำเภอหาดใหญ่ออกสู่ทะเล ทางทะเลสาบสงขลา
ทำให้ทุกภาคส่วนใช้บทเรียนในอดีตเร่งผลักดันการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ และเร่งขุดลอกคลองอู่ตะเภาระยะทาง 12 กิโลเมตร โดยใช้กำลังพลจากกองพลพัฒนาที่ 4 ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 90 แล้ว หลังจากคลองอู่ตะเภาไม่เคยได้รับการขุดลอกมานานถึง 25 ปี คาดว่าหลังการขุดลอกครั้งใหญ่ในปีนี้ (56) จะช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังได้ถึง 2 เท่า จากเดิม 240 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และน่าจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเขตเศรษฐกิจอำเภอหาดใหญ่ จากที่เคยท่วมขังนานกว่า 18 ชั่วโมง ก็อาจจะเหลือ 5ถึง6 ชั่วโมง หรือไม่ท่วมเลย
การเข้าช่วยเหลือประชาชนเพื่อเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ยังเป็นเครื่องมือของกองทัพในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ ที่มีการต่อต้าน หรือกระแสอนุรักษ์โครงการขุดลอกคลองสำคัญและพัฒนาแหล่งน้ำของกองทัพภาคที่ 4 เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคใต้ ใช้กำลังทหารจาก 3 กองพล เน้นขุดลอกคลองสายหลัก ปลูกพืชป้องกันหน้าดิน และทำฝายชลอน้ำ เพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์น้้ำท่วมในปีนี้และเตรียมการระยะยาว นอกเหนือจากการทำหน้าที่หลักดูแลความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้