สถาบันดาราศาสตร์ ชวนชมจันทร์โตที่สุดในรอบปี 23 มิ.ย. นี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลยี แจ้งว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 18:11 น. ตามเวลาในประเทศไทย คนบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3% เนื่องจากเป็นวันที่ดวงจันทร์โคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,989 กิโลเมตร และเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี
นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ตามปกติแล้วดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้ระยะเวลา 1เดือน ดังนั้นในทุกๆ เดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ช่วงของวงโคจรที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างประมาณ 356,000 กิโลเมตร ส่วนช่วงของวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างประมาณ 407,000 กิโลเมตร
นาย ศรัณย์ กล่าวว่า การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมาใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกในคืนวันเพ็ญลักษณะเช่นนี้ เกิดครั้งล่าสุดในวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 (ตามเวลาในประเทศไทย 10:34 น.) ที่ระยะห่าง 356,953 กิโลเมตร