ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พท."เตรียมเสนอ"รัฐบาล"ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯคุมผู้ชุมนุม

การเมือง
30 ก.ค. 56
04:34
61
Logo Thai PBS
"พท."เตรียมเสนอ"รัฐบาล"ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯคุมผู้ชุมนุม

พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมผู้ที่จะมารวมตัวชุมนุม โดยบังคับใช้พื้นที่รอบรัฐสภา เพื่อป้องกันผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา

ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคได้กำหนดบทบาทของบุคคล เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่ปกติ ทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร ในวันพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว

ซึ่งมีรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้มีการประเมินสถานการณ์การชุมนุมการเมือง โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง แต่เพื่อความไม่ประมาทจึงได้เตรียมเสนอแนวทางการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯมาใช้ในการดูแลสถานการณ์ ในช่วงที่มีการเปิดประชุมสภาฯ เพื่อประกาศพื้นที่ควบคุม ป้องกันไม่ให้มีการปิดล้อมรัฐสภาด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง ในช่วงค่ำของวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประสานจัดกำลังตำรวจเข้าร่วมดูแลรักษาความปลอดภัยรัฐสภา ตั้งแต่วันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก วันที่ 1 ส.ค.นี้ แม้การชุมนุมของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ จะนัดหมายวันที่ 4 ส.ค.และการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะกำหนดวาระไว้ในวันที่ 7 ส.ค.ก็ตาม

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงความพร้อมในการเตรียมรับมือและดูแลความสงบกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนทั้งสิ้น 20 กองร้อย ในการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ทุกนายจะปราศจากการพกอาวุธ มีเพียงโล่ป้องกันตัวเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้สั่งให้มีการซ้อมยุทธวิธีการรับมือผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมกล้องวงจรปิด และชุดถ่ายภาพประกอบหลักฐาน หากเกิดเหตุความไม่สงบขึ้น โดยใช้บทเรียนจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม ภายใต้การนำของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (55)

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เชื่อว่าการที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นเจตนาที่จะเลี่ยงความรับผิดชอบ เพราะตามระบบเสียงข้างมากในสภา คือเสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง