กองทัพประชาชนฯ เตรียมร้องป.ป.ช.-ศาลรธรน. กรณีรัฐใช้พ.ร.บ.มั่นคงไม่เป็นธรรม
ศอ.รส. สั่งให้มีการตรวจสอบผู้ที่ขึ้นเวทีทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นการ์ดว่าเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ พร้อมจัดชุดปฏิบัติการทุกชุดถ่ายภาพวิดีโอ ภาพถ่าย ไว้เป็นหลักฐาน และให้มีการถอดเทปสัมภาษณ์เฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางเข้าร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยจนถึงขณะนี้ แกนนำการชุมนุม ยังไม่เปิดเผยแผนการยกระดับการชุมนุม แต่จะมีความเคลื่อนไหวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ในวันนี้ (6 ส.ค.)
การชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวานนี้ (5ส.ค.56) ที่บริเวณสวนลุมพินี มีประชาชนทยอยมาร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปราศรัยบนเวทีในช่วงเย็นจนถึงค่ำ แต่ยังไม่มีการชี้แจงความชัดเจนด้านแผนการยกระดับการชุมนุม ตามที่ได้ประกาศจะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 6-7 สิงหาคม
ส่วนความเคลื่อนไหวในวันนี้ (6 ส.ค.) นายพิเชฐ พัฒนโชติ แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เปิดเผยว่า จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจะร้องเรียนกรณีที่คณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ เพราะถือว่า เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนในการชุมนุม นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากยังไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ
ส่วนการดูแลควบคุมสถานการณ์การชุมนุม มีรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกรณีการชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา สบ10 งานกฎหมายและคดี เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน พร้อมแต่งตั้งรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน 6 นาย และตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนอีก 4 ชุด โดยให้พนักงานสืบสวนสอบสวนถอดเทปคำปราศรัยอย่างละเอียด 1ชุด
ด้านพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ศอ.รส. เปิดเผยว่า ศอ.รส.มีคำสั่งให้ฝ่ายสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบผู้ที่ขึ้นเวทีผู้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุม ว่าเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ หรือหากอยู่ในเงื่อนไข ตามคำสั่งศาลอยู่ ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ ได้สั่งให้ชุดปฏิบัติการทุกชุดถ่ายภาพวิดีโอ ภาพถ่ายไว้ตลอดเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
โฆษก ศอ.รส. ระบุด้วยว่า จากที่มีการปิดเส้นทางตามประกาศไปก่อนหน้านี้ กองบังคับการตำรวจจราจร ได้ปิดเส้นทาง 5 เส้นทาง เพิ่มเติม เนื่องจากคาดว่า จะเป็นพื้นที่ที่จะมีการดาวกระจาย ทั้งถนนบริเวณทางเข้ารัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล โดยจะปิดเส้นทางจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือจนกว่าการชุมนุมแล้วเสร็จ
สำหรับเส้นทางที่ปิดเพิ่มเติม ได้แก่ 1.ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือน-แยกราชวิถี 2.ถนนพิชัยตั้งแต่แยกขัตติยานี -แยกราชวิถี 3.ถนนอู่ทองในตั้งแต่แยกพระรูป -แยกอู่ทองใน 4.ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ผ่านแยกสวนมิสกวัน ถึงแยกวังแดง 5.ถนนราชดำเนินตั้งแต่แยกสวนมิสกวัน-แยกมัฆวาน โดยใข้เส้นทางเลี่ยงถนนราชสีมา ถนนสุโขทัย ถนนอำนวยสงคราม ถนนพระราม 5 ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ และ ถนนกรุงเกษม
ด้านกระทรวงศึกษาธิการ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมระหว่างที่มีการจัดการชุมนุม กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดขึ้นจากการชุมนุม โดยให้อำนาจผู้บริหารโรงเรียนในการตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงได้ไม่เกิน 7 วัน
ในเบื้องต้น นายสมยศ ศิริบรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเพียงโรงเรียนราชวินิตประถม เพียงแห่งเดียวที่ประกาศปิดการเรียนการสอน วันที่ 6-7 สิงหาคม เนื่องจากการเดินทางของผู้ปกครอง เพื่อมาส่งบุตรหลานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนวันที่ 8-9 สิงหาคม ทางโรงเรียนจะรอดูสถานการณ์อีกครั้ง