ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วงการทำหน้าที่ของรองประธานรัฐสภา
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราว่าด้วยที่มาของ ส.ว.เกิดความวุ่นวาย เมื่อส.ส.ฝ่ายค้านประท้วงการทำหน้าที่ของรองประธานรัฐสภา
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ มีวาระสำคัญ คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...)พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ประเด็นที่มาของ ส.ว.
สำหรับการพิจารณาประเด็นที่มา ส.ว. มีเนื้อหา ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน จากเดิมที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา และให้ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้ามตัดข้อห้ามที่เคยระบุว่า ห้ามสังกัดพรรคการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีออกไป รวมถึงตัดข้อห้ามเรื่องการเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไป พร้อมทั้งบัญญัติในท้ายร่างด้วยว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เลือกตั้ง ส.ว. แล้ว ส.ว.ชุดเดิมจะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่ง หรือถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้ จนกว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปตามร่างที่แก้ไขจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่
นายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งทันที่ที่เปิดการประชุม ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นประท้วงการทำหน้าที่ของนายนิคม ที่ส่อว่าจะขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากนายนิคมเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่ว่าด้วยที่มาของส.ว. และเสนอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมแทน
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าฝ่ายค้านเกรงว่าการทำหน้าที่ของนายนิคมจะไม่เป็นกลางตามบทบัญญัติ และไม่มั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่
ด้านรองประธานรัฐสภายืนยันถึงการทำหน้าที่ ที่ยึดตามข้อบังคับและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นหลัก อีกทั้งการประชุมในวาระที่ 1 ก็ไม่ได้ร่วมลงมติด้วย ดังนั้นจึงจะทำหน้าที่ประธานการประชุมต่อไป