นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ที่เข้าร่วมในเวทีสภาปฏิรูปการเมือง ระบุว่า หนทางการแก้ปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง คือควรมีการแบ่งกลุ่มให้ผู้เชี่ยวชาญไปศึกษา ทั้งด้าน ด้านความมั่นคง ด้านสังคม ซึ่งจะทำให้ได้งานใหญ่และละเอียดขี้น การมานั่งหารือในวงใหญ่ลักษณะนี้ อาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
ขณะที่นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เห็นว่า การปฏิรูปการเมืองหมายถึงการสร้างแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แต่เรื่องกฎหมาย แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องความปรองดอง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปประเทศและการเมือง ซึ่งการปฏิรูป ต้องสร้างความเข้าใจว่าเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต้องทำร่วมกันก็จะสำเร็จ
ด้านนายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต กล่าวว่า แนวทางการเปิดเวทีสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันในการทำงาน ก็ควรต้องประกาศเป็นประชามติสภาปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ลงประชามติยอมรับกับแนวทาง ที่รัฐบาลประกาศว่าจะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองอย่างจริงจัง โดยฝ่ายนักวิชาการ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำวิจัยการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนต้องการประชาธิปไตย หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ประชาชนก็จะมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ทุกฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคืออำนาจจากประชาชนไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเห็นว่าการช่วยกันแก้ปัญหาจะเกิดประโยชน์
ขณะที่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมอย่าง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ อาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง การร่วมมือการกำหนดกรอบในการเดินหน้าอย่างชัดเจน จะทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศมีศักยภาพมากขึ้น
ส่วน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เสนอให้ นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ความมั่นคง และเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปด้านกฎหมายที่จำเป็น พร้อมระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการปฏิรูปประเทศหลายครั้ง แต่ผลออกมาก็เงียบหายไป หากนายกรัฐมนตรี ไม่หยิบผลของการปฏิรูปมาใช้ก็จะไร้ประโยชน์
ส่วนความเคลื่อนไหวนอกเวทีระดมความเห็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนจุดยืน หรือเปลี่ยนใจเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมือง ในขณะที่ยังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะมีจุดยืนในการสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และการปรองดองอย่างแท้จริง ว่าจะต้องปลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก่อน
ดังนั้นหากรัฐบาลยอมถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน โดยประเด็นคือตรงไม่ตรงมา ไม่เอาผลประโยชน์ของตัวเองหรือกลุ่มเป็นที่ตั้ง และต้องไม่ปิดพื้นที่การแสดงออกของประชาชน
ส่วนเวทีปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลจัดขึ้นยังไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกับรัฐบาล และยังไม่มีการตอบรับข้อเสนอจากหลายกลุ่มที่เคยเสนอเพื่อลดความขัดแย้ง พร้อมทั้งเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของเวทีปฏิรูปการเมือง คือการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้นยืนยันว่าต้องคัดค้าน
ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า เวทีสภาปฏิรูปกำลังจะถูกใช้เป็นเครื่องต่อลมหายใจของรัฐบาล เพราะวิกฤตปัญหาประเทศในขณะนี้ เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพและนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐบาล จนเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง