เปิดเล่มว่าที่ กวีซีไรต์ 2556: บ้านในหมอก
ริ้วรอยกองเกวียนของปู่ย่า การเดินทางของครอบครัวครั้งอพยพย้ายถิ่นตามความสมบูรณ์ของผืนดินและศรัทธาต่อป่าเขา เรื่องเล่าจากม่านความทรงจำของพ่อ ฉายภาพอีกครั้งโดยบทกวีของลูกชายนักประพันธ์ ขับเคลื่อนกองเกวียน แฝงความเปลี่ยนแปลงของชนบทผ่านตัวอักษร ผูกโยงเหตุการณ์และเรียงร้อยอย่างคมคาย ความงามของธรรมชาติ วัฒนธรรม ที่เลือนหายคล้ายถูกคลุมด้วยหมอกควัน แปรเปลี่ยนเป็นตึกสูงระฟ้า ปัญหานานับที่เกิดจากการพัฒนาทางวัตถุและสังคมเมือง 2 ความต่างถ่ายทอดในกวีนิพนธ์ "บ้านในหมอก" บรรยายภาพความย้อนแย้งของสังคมเมืองและชนบท ด้วยลีลาภาษากลอนในแบบของ สุขุมพจน์ คำสุขุม ผูกร้อยบทกวีอย่างมีเอกภาพ ใช้ผลงานต่างกระจกสะท้อนให้ผู้อ่านร่วมตรวจสอบ "หมอกในบ้าน" ของตัวเอง
"ขายเฮือนให้เขามาเช่าเพิ่นอยู่ รันทดอดสูอีนางบักหำ สองฝั่งมิตรภาพทิ้งภาพจดจำ อู่ข้าวโบร่ำ อู่น้ำโบราณ" ในบทกวีก็จะมีภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งเป้นสิ่งที่คุณสุขุมพจน์ นำเอาความเป้นตัวตนคนอีสานถ่ายทอดลงไปในบทกวีด้วย แต่ว่าสำหรับใครที่ไม่เข้าใจภาษาอีสานไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าได้มีการนำเอาคำแปลใส่ไว้ในเล่มด้วย เช่น คำว่า บักหำ เมื่อสักครู่ ก็มีคำแปลว่าเป็นการเรียกเด็กชายอย่างรักใคร่เอ็นดูนั่นเอง
คงเอกลักษณ์ของนักเขียนจากที่ราบสูงไว้ในผลงานทุกชิ้น คละเคล้าภาษาถิ่นสำเนียงอีสานผ่านบทกวีอย่างกลมกลืน หากเพื่อให้ผลงานผ่านสายตาของผู้อ่านอย่างไร้ข้อจำกัด ครูนักประพันธ์วัย 52 ปี จึงเสริมเติมคำแปลไว้ท้ายบทเสมอ จากความชื่นชอบในบทอาคยานตั้งแต่ชั้นประถม สุขุม คำภูอ่อน เก็บสะสมคำสวยจากการอ่านและฟัง พัฒนาฝีมือจนมีผลงานตีพิมพ์ทั้งในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และนิตยสารอีกหลายฉบับ 20 ปี ในวงการน้ำหมึก สร้างชื่อด้วยบทกวีที่โดดเด่น ใช้ความคุ้นเคยสะท้อนภาพต่างของสังคม จนเป็นที่รู้จักในนามปากกา สุขุมพจน์ คำสุขุม นอกจากเต็มไปด้วยการเล่นคำและโวหารเปรียบเปรย หากยังมากด้วยอารมณ์ขันของนักประพันธ์
ทั้งเรื่องราวความรักในวัยเรียน การดื้นรนของวัยรุ่นเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า หรือการยอมแลกความสาวของเด็กหญิงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของ มุมมองคิดและวิถีชนบทที่เปลี่ยนไปจากรุ่นปู่ย่า สะท้อนผ่านเรื่องราวของนักเรียนที่ครูนักประพันธ์ได้ใกล้ชิดและเฝ้าสังเกต นำมาเล่าใหม่ในภาษากวี "บ้านในหมอก" เคยได้รับรางวัลจากเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ดปีที่แล้ว ขณะที่ผลงาน "สายรุ้งของความรัก" ก็เคยเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ เมื่อปี 2544 มาแล้ว เพราะเชื่อในพลังของหนังสือ สุขุมพจน์ คำสุขุม จึงอยากให้ทุกคัวอักษรเป็นสื่อบอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ชี้ชัดว่าถูกหรือผิด ให้หน้าที่หาคำตอบเป็นของผู้อ่าน