วิทยากรเวที
วิทยากรยังแนะนำรัฐบาลไทยในบริบทของประเทศไทยว่า ควรที่จะสร้างความไว้ใจให้กับประชาชน โดยการลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างชัดแจ้ง รวมถึงการหาโอกาสพูดคุยกับฝ่ายตรงข้าม เพื่อดูว่าเป้าหมายของแต่ละฝ่าย มีความต้องการอย่างไรกันบ้าง
นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ขึ้นปาฐกถาว่า รากฐานของความขัดแย้งนั้นจะนำไปสู่ความไม่เห็นด้วยเสมอ ซึ่งความแตกต่างก็เป็นเรื่องปกติของแต่ละประเทศแต่เราต้องยอมรับ ซึ่งถ้าอยากจะสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นโดยเร็วนั้น ต้องมีการสร้างกรอบให้ก้าวต่อไป สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น โดยประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่ว่าเป็นวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ให้สัมพันธ์กับเสียงของคนส่วนน้อย ให้เปิดพื้นที่เท่าเทียมกัน โดยอาศัยหลักนิติธรรม ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วย ขณะเดียวกันรัฐต้องกล้าให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส และผู้นำต้องผลักดันให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วมในการฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย
ขณะที่นายมาร์ตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ในฐานะเป็นผู้ผลักดันสู่การเจรจาสันติภาพในนามิเบีย อาเจะห์ ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความท้าทาย โดยต้องหากระบวนการเดินหน้าอย่างเสรี การสร้างความปรองดองต้องเริ่มจากความไว้วางใจ โดยเจรจาทางออกร่วมกันซึ่งก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการปรองดอง โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอาเจะห์ เมื่อปี 2004 เกิดสึนามิพัดถล่มซ้ำก็ทำให้ปี 2005 นั้นต้องมีการพูดคุยขึ้น จนค่อยๆเกิดความไว้วางใจ มีเป้าหมายหาทางออกร่วมกัน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำตามสัญญา ถ้าผิดสัญญาความปรองดองก็เกิดขึ้นไม่ได้
ขณะที่นางฟริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน กล่าวว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ โดยสร้างให้ต้องบริบทของประเทศ ซึ่งการใช้ความปรองดองที่ผิดเจตนารมย์ อย่างเช่นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็อาจทำให้เกิดการปฏิเสธกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสีย ที่อาจจะไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้
ในช่วงที่ให้ผู้รับฟังได้มีโอกาสถามวิทยากรทั้ง 3 ท่าน หนึ่งในนั้น คือ นางนิชา ธุวธรรม ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ถามถึงกระบวนสร้างความเชื่อใจของรัฐบาล และถามถึงการคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ถามผู้สูญเสียนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ทางด้านนายโทนี่ แบลร์ บอกว่ารัฐบาลต้องฟังเสียงของผู้สูญเสียด้วย ต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างเปิดเผย โดยพยายามสร้างความไว้วางใจ
ขณะที่นายมาร์ตี อาห์ติซารี แนะนำว่า รัฐบาลไทยต้องเดินหน้าพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามหาเป้าหมายของทั้ง 2 ฝ่ายว่าต้องการอะไร ด้านนางฟริซิลลา เฮย์เนอร์ ระบุว่า ตัวเธอนั้นไม่สามารถตอบได้ว่าถ้าไทยแก้กฎหมายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของกฎหมาย และเป็นการนำมาตีความ
และอีกคำถามหนึ่งที่ดูจะเป็นการสร้างสีสีนบนเวที จนทำให้นายโทนี่ แบลร์ถึงกับยิ้มไม่หุบ ก็คือคำถามจาก นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่ถามเชิงหยิกแกมหยอกว่า ประเทศไทยในตอนนี้ก็มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนถ่ายอำนาจผ่านทางสไกป์ ซึ่งปัญหานี้ก็อาจจะทำให้มีการแทรกแซงอำนาจจากภายนอกได้ อย่างไรก็ตาม ทางผู้นำบอกว่าเป็นการแสดงความเห็นทางหลักการ ซึ่งไทยต้องอาศัยการพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความปรองดองมากขึ้น โดยในช่วงบ่ายวันนี้ ก็จะมีการแสดงความเห็นในมุมมองของผู้เชียวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ