เอกชนชี้รัฐบาลควรส่งเสริมธุรกิจแปรรูปยางขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาราคายางด้วย
มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 กันยายน เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพารา ภายใต้วงเงินกว่า 25600 ล้านบาท โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งมาตรการระยะกลาง และยาวครั้งนี้ถือว่ามีความชัดเจนมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมารัฐจะเน้นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าซึ่งทำให้การดูแลราคายางพาราไม่มีเสถียรภาพอย่างที่คาดหวัง ผู้อำนวยการองค์การสวนยางเห็นว่าการแปรรูปยางเป็นทางออกของการดูแลราคายางที่ดีวิธีหนึ่งเพราะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บยางไว้ได้นานกว่า 1 ปี ซึ่งสามารถวางแผนการขายและสร้างอำนาจการต่อรองได้
ขณะที่ นายชโย ตรังอดิศัยกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้แปรรูปยาง แต่มองว่ามาตรการที่จำกัดเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จะทำให้โรงงานแปรรูปยางที่เกิดใหม่ตามโครงการ แปรรูปได้แค่ขั้นต้น และขั้นกลาง ไม่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ และหากรัฐบาลใช้นโยบายเดียวกับจีน ที่ซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศมาเผยแพร่ ก็ยังต้องเจอปัญหาการควบคุมคุณภาพสินค้าที่ต้องอาศัยประสบการณ์
ปัจจุบันไทยผลิตยางพารามากถึง 1 ใน 3 ของโลก ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี แต่ไทยแปรรูปยางเพียง ร้อยละ 13 เพราะผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ 10 เท่า และไม่สามารถลงทุนแข่งขันกับต่างชาติที่เป็นรายใหญ่ของโลกได้
โรงงานผลิตสินค้าจากยางขนาดใหญ่ที่ตั้งในประเทศไทย ที่ผลิตยางล้อรถยนต์นับแสนเส้นต่อวัน เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์จะสั่งทำตามสเป็คเพื่อประกอบกับรถยนต์ใหม่ และส่งออกทั่วโลก ขณะที่บริษัทไทย เป็นโรงงานขนาดกลาง ที่เน้นผลิตอะไหล่ทดแทน
ภาพรวมผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ไทยผลิตได้คือ ถูกแปรรูปเป็น ยางล้อรถยนต์ ถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือถุงมือยาง เส้นด้าย ยางยืด ยางรถจักรยานยนต์ และยางรัดของ
นายชโย เห็นว่า แม้สัดส่วนการผลิตยางรัดของจะอยู่ในอันดับ 5 แต่เป็นสินค้าที่มีความต้องการใช้มาก สามารถขยายตลาดได้ทั้งใน และต่างประเทศ วิธีการผลิตไม่ซับซ้อน และลงทุนไม่มาก จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา นอกเหนือไปจากการแปรรูปเป็นยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน