อคติทางเพศต่อ
ความฮึกเหิมในเพลงมาร์ช Pomp and Circumstance ของคีตกวี เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ มาจากการถ่ายทอดอย่างสมบูรณ์แบบโดย มาริน ออลซอป วาทยากรหญิงชาวอเมริกัน ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีคนแรกในรอบ 118 ปีที่ได้รับเลือกให้เป็นวาทยากรปิดงาน The Proms เทศกาลดนตรีคลาสสิกประจำปีของอังกฤษ ซึ่งเธอยอมรับว่าทั้งภูมิใจระคนกับประหลาดใจที่วาทยากรหญิงเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับในวันนี้
ในอดีต นักดนตรีหญิงมักถูกกีดกันจากวงออร์เคสตราอยู่เสมอ โดยครั้งแรกที่ Berlin Philharmonic วงออร์เคสตราชั้นนำของโลกรับสมาชิกหญิงเข้าวงเมื่อปี 1982 ได้เกิดแรงต่อต้านภายในจนนักดนตรีหญิงผู้นั้นต้องลาออกในอีก 9 เดือนต่อมา ส่วนวงออร์เคสตราอันดับหนึ่งที่มีอายุกว่า 170 ปีอย่าง Vienna Philharmonic ก็เพิ่งรับนักดนตรีหญิงเข้าวงเมื่อปี 1997 นี่เอง
แม้ตำแหน่งสมาชิกในวงจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่หน้าที่วาทยากรยังถูกปิดกั้นโดยอคติทางเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถถ่ายทอดความฮึกเหิมในดนตรีของคีตกวีชายเช่นบรามห์หรือมาห์เลอร์ได้ ซึ่งประเด็นยิ่งร้อนแรงเมื่อ วาซิลี เพทรอนโก้ วาทยากรชื่อดังชาวรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ก่อนงาน The Proms ว่าวาทยากรหญิงสาวจะทำให้นักดนตรีไม่มีสมาธิกับบทเพลง ส่วนวาทยากรสตรีที่มีครอบครัวจะไม่สามารถทุ่มเทให้การควบคุมวงได้เท่าที่ควร ซึ่งหลังถูกประณามจากสื่อ เพทรอนโก้ชี้แจงว่าความเห็นดังกล่าวคือการสะท้อนทัศนคติต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในวงการดนตรีของรัสเซียทุกวันนี้
ขณะที่ศูนย์กลางดนตรีคลาสสิกอย่างยุโรปตะวันตกและรัสเซียยังคงปิดกั้นสตรีจากการเป็นผู้นำวง แต่โอกาสของวาทยากรหญิงกลับพบได้มากกว่าในอเมริกาเหนือและสแกนดิเนเวีย หรือในชาติเอเชียอย่างเกาหลีใต้ก็สร้างวาทยากรหญิงหน้าใหม่เข้าวงการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ฮันนาชัง วาทยากรวัย 30 ปีที่ได้ควบคุมวง Qatar Philharmonic วงออร์เคสตราจากชาติอาหรับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของวาทยากรหญิงส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของนักดนตรีหญิงรุ่นใหม่ที่ไม่มองว่าการอำนวยเพลงสงวนไว้สำหรับผู้ชายอีกต่อไป เห็นได้จากผู้สมัครเรียนการอำนวยเพลงตามสถาบันดนตรีชั้นนำในยุโรปที่มีผู้หญิงเกือบครึ่ง
ในงาน The Proms มาริน ออลซอป ผู้เป็น 1 ใน 2 วาทยากรหญิงที่มีโอกาสควบคุมวงออร์เคสตราชั้นนำของโลก เปิดใจว่า ตอนที่เธอ 9 ขวบ ครูดนตรีสอนเธอว่าวาทยากรไม่ใช่งานสำหรับผู้หญิง ไม่น่าเชื่อว่าจนวันนี้แม้แต่วาทยากรชั้นนำบางคนก็ยังมีความคิดเช่นนั้น เธอจึงขอใช้คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นตัวแทนความก้าวหน้าของวงการเพลง และให้กำลังใจศิลปินหญิงรุ่นเยาว์ให้ยึดมั่นในความฝัน และช่วยให้อนาคตวงการเพลงไร้ซึ่งอคติทางเพศ