ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เผยอุปสรรคโครงการโซลาร์รูฟท็อป เหตุความขัดแย้งเชิงการเมือง

22 ก.ย. 56
14:20
377
Logo Thai PBS
เผยอุปสรรคโครงการโซลาร์รูฟท็อป เหตุความขัดแย้งเชิงการเมือง

โครงการโซลาร์รูฟท็อป ที่เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน อาคาร และโรงงาน เป็นหนึ่งในโครงการ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 แต่โครงการนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรค และอาจส่งผลให้การดำเนินการไม่เป็นตามแผน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งถูกมองว่ามาจากความขัดแย้งเชิงการเมือง

บ้านหลังนี้ เป็นหนึ่งใน 68 ราย ที่เข้าร่วมโครงการขายไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เมื่อปี 2553 โดยขายให้การไฟฟ้าหน่วยละ 11 บาทเศษ น่าสังเกตว่า 68 รายที่ขายไฟ มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้รวมกันเพียง 760 กิโลวัตต์ มีคำชี้แจงว่าการติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรืออาคารพาณิชย์ ยังไม่คุ้มทุน และค่าส่วนเพิ่ม หรือแอดเดอร์ ยังไม่เหมาะสม ดังนั้นโครงการรอบใหม่ที่จะเริ่มรับสมัครเพื่อให้ได้กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ จึงเกิดคำถามถึงความเป็นไปได้
 
ขณะเดียวกันโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย อาคาร และโรงงาน หรือ โซลาร์รูฟท็อป ที่ให้รายย่อยได้ลงทุน เพื่อขายไฟให้การไฟฟ้า อัตรา 6 บาทเศษ ถูกมองว่าอาจไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เป็นเป้าหมายหลักเท่าที่ควร เพราะกรอบเวลาที่ให้ดำเนินการสั้นเกินไป นับจากการเปิดรับสมัคร 23 ก.ย.2556 จนถึงขายไฟเข้าระบบ มีให้เวลาผู้ลงทุนเพียง 2 เดือน
 
นอกจากนี้การอนุญาตให้ประกอบกิจการ ต้องยื่นขอจากหลายหน่วยงาน ต่างกระทรวง จนอาจเกิดความไม่สะดวกและล่าช้า แม้ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ และยืนยันว่ามีอำนาจพิจารณาทั้งหมด แต่ขณะนี้หน่วยงานที่ว่ายังไม่เกิดขึ้น
 
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เสนอให้กระทรวงพลังงานเจรจากับกระทรวงอุตสาหกรรมปลดล็อกโครงการแสงอาทิตย์สำหรับผู้ผลิตทุกประเภทให้จัดอยู่ในหมวดโรงงงานประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ รง.4 เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
 
แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้ พ.ร.บ.โรงงาน เข้าควบคุมโครงการ โดยอ้างเหตุผลการดูแลความปลอดภัยจากการผลิตไฟฟ้า และการกำจัดขยะอันตรายที่เกิดขึ้น ทั้งที่กระทรวงพลังงานขอหารือแล้ว ทั้งรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ปรากฏการณ์นี้ถูกวิเคราะห์ว่า ความเห็นไม่ลงรอย และยังไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงตัวได้ มาจากนโยบายบริหารของพรรคการเมือง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้ากระทรวงมาจากพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเคยบริหารกระทรวงพลังงานอยู่เดิม แต่ภายหลัง กระทรวงพลังงาน พรรคเพื่อไทยเข้ามาดูแล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง