หาทางออกแก้ปัญหา
ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ ปัญหาหนึ่งเกิดจากผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าทางออกสำคัญทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาราคายางระยะยาว คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในประเทศให้มากขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางให้แก่เกษตรกร
กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทหลัก ได้แก่ กลุ่มยางยานพาหนะ มีสัดส่วน ร้อยละ 67 ถุงมือยาง, ร้อยละ 14 ยางยืด, ร้อยละ 13 ยางรัดของ, ร้อยละ 2 และอื่นๆ ร้อยละ 4 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งแผนพัฒนาผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา ด้วย 6 มาตรการหลัก โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี/องค์ความรู้และการจัดหาตลาดเพิ่มขึ้น
นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลผู้ประกอบการยางพาราและกลุ่มสหกรณ์ด้วยวงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศ แม้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายจะเรียกร้องให้รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกสูงแม้จะมีปริมาณเพียงร้อยละ10 ของการส่งออกทั้งหมด
จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศได้เป็นร้อยละ 20 จากเดิมร้อยละ 13 จะช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราได้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้สูงถึง 1.74 ล้านล้านบาท โดยมูลค่ายางพาราในอุตสาหกรรมปลายน้ำสูงถึง 724,000 ล้านบาท
ผศ.อัทธ์ ระบุด้วยว่า ไทยต้องเร่งรื้อโครงสร้างยางพาราภายใน 5 ปี โดยเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการต้นทุน เพื่อหาต้นทุนที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างทำให้แก้ไขไม่ถูกจุด ซึ่งหากปล่อยไว้นอกจากเกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำ อาจต้องพบกับปัญหาด้านการแข่งขันสินค้าที่รุนแรงภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย