ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เฟซบุ๊ค"ติดโผตัวเก็งรางวัล"โนเบล"สันติภาพ

ต่างประเทศ
8 ต.ค. 56
05:30
84
Logo Thai PBS
"เฟซบุ๊ค"ติดโผตัวเก็งรางวัล"โนเบล"สันติภาพ

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้จะมีการประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปีในสาขาต่างๆ ซึ่งสาขาหนึ่งที่มีคนสนใจมากที่สุด นั่นคือสาขาสันติภาพ โดยปีนี้มีตัวเก็งหลายคนที่ถือเป็นบุคคลที่น่าสนใจและผลงานก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของพม่าและรัสเซีย รวมถึงเว็บไซต์สังคมออนไลน์ระดับโลกอย่าง"เฟซบุ๊ค" ปีนี้ก็ติดโผด้วย

คนแรกคือจูเลี่ยน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกีลีคส์ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2553 เมื่อเว็บไซต์วิกิลีคส์ เผยแพร่ข้อมูลลับและเอกสารลับหลายพันฉบับเกี่ยวกับการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน นับเป็นการรั่วไหลของข้อมูลลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ทำให้อัสซานจ์กลายเป็นวีรบุรุษ ได้รับการยกย่องว่ากล้าเอาชีวิตเข้ามาเสี่ยงกับการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ตอนนี้อัสซานจ์ยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อหลบหนีการจับกุมในข้อหาล่วงละเมิดสตรี 2 คนในประเทศสวีเดน ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเพียงข้ออ้างในการควบคุมตัวเขาเพื่อส่งกลับไปสหรัฐฯ

แต่ข้อมูลเหล่านี้ ไม่มีทางที่จะถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์"วิกิลีค"ได้ หากไม่มีสิบตรีแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง อดีตนายทหารที่นำข้อมูลทั้งหมดนี้มามอบให้กับอัสซานจ์ ตอนนี้สิบตรีแมนนิ่งถูกศาลทหารตัดสินจำคุกเป็นเวลา 25 ปี ในข้อหามอบเอกสารลับมากกว่า 7 แสนฉบับให้กับอัสซานจ์

นายเอ็ดเวิร์ด สโนวเด้น อดีตลูกจ้างของซีไอเอสหรัฐฯ ที่เปิดเผยโครงการ"พริซึ่ม" ที่ดักฟังการใช้โทรศัพท์และตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวอเมริกัน หลังเขาเปิดเผยเรื่องนี้ที่ฮ่องกง ก็ได้เดินทางไปที่รัสเซียและติดค้างอยู่ในสนามบินในกรุงมอสโคว์นานกว่า 1 เดือน เพราะไม่สามารถเดินทางต่อไปประเทศที่ 3 เพื่อขอลี้ภัยได้ ในที่สุดรัฐบาลรัสเซียก็ยอมให้สโนว์เด้นลี้ภัยได้เป็นเวลา 1 ปี

นางสาวมาลาล่า ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการเรียนหนังสือของเด็กและสตรี ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตอลีบัน จนทำให้เธอถูกกลุ่มตอลีบันจ่อยิงที่ศีรษะบนรถโรงเรียนเมื่อปีที่แล้ว แต่โชคดีที่เธอรอดชีวิตมาได้ และดูเหมือนว่าเธอจะแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้เธอคว้ารางวัลด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมาแล้ว

คนต่อมาคือนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นที่พยายามสร้างสันติภาพบนโลกใบนี้ คนต่อมาคือพลเอกเต็งเส่ง ประธานาธิบดีของพม่าวัย 68 ปี หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของพม่าเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554 เขาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพม่า และเป็นการ INDONESIA-PUTIN เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งจริงๆแล้ว พลเอกเต็งเส่งเป็นตัวเก็งในรางวัลนี้ตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย บทบาทโดดเด่นคือการเป็นตัวกลางระหว่างสหรัฐฯ ชาติตะวันตกกับซีเรีย เป็นตัวตั้งตัวตีในการร่างแผนการและเจรจาให้รัฐบาลซีเรียยอมรับข้อตกลงการปลดอาวุธเคมี ซึ่งทำให้ซีเรียรอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยสหรัฐฯและชาติตะวันตก

สุดท้ายคือเว็บไซต์"เฟซบุ๊ค" ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญในการปฏิวัติของประชาชนทั้งในปรากฏการณ์"อาหรับ สปริงส์" และการแสดงพลังประชาชนในประเทศต่างๆ การเผยแพร่ภาพและข้อมูลจากแหล่งที่ระบบการสื่อสารถูกตัดขาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง