<"">
วันนี้ (11 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจีน จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยไทยและจีน จะมีการพูดคุยความร่วมมือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อาเซียน และมีการลงนามในข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจทั้งด้านการลงทุน ด้านพลังงาน และด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ส่วนกรณีการแลกเปลี่ยนค้าระหว่างสินค้าเกษตรของไทย กับรถไฟของจีนยังไม่มีความชัดเจน
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2556
สำหรับกำหนดการการเดินทาง วันนี้ นายกรัฐมนตรีจีน มีกำหนดการเข้าพบหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ที่รอบด้าน ไทย - จีน ผ่านการกระชับความร่วมมือที่ใกล้ชิดในทุกสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และสองฝ่าย จะมีการลงนามในเอกสารความตกลงและบันทึกความเข้าใจทวิภาคีหลายฉบับ ครอบคลุมสาขาความร่วมมือด้านการลงทุน, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ด้านพลังงาน, ความร่วมมือทางทะเล และความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม นอกจากกำหนดการในการเยือนกรุงเทพฯ นายกรัฐมนตจีนจะเดินทางเยือนจ.เชียงใหม่ และเข้าเยี่ยมชมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ส่วนการแลกเปลี่ยนค้า หรือ บาร์เตอร์เทรด กรณีการแลกสินค้าเกษตรของไทยกับรถไฟจากจีน ตามแนวคิดของกระทรวงคมนาคม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นเพียงแนวคิดที่ผู้ซื้อ และผู้ขายต้องไปหารือร่วมกันในรายละเอียดอีกครั้ง โดยหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่จะซื้อสินค้าจากจีนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ และหาข้อสรุปการซื้อขายดังกล่าว ว่าจะต้องใช้สินค้าเกษตรไทย จ่ายเป็นค่าสินค้าให้จีนจำนวนเท่าใด และสัดส่วนเท่าใดของมูลค่าสินค้าทั้งหมด แต่ยืนยันว่า ต้องอ้างอิงราคาตลาดเป็นหลัก
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการได้หารือร่วมกับ นายหลู่ ตรง ฟู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของจีน โดยมีการพูดคุยถึงเงื่อนไขเบื้องต้นว่า จีนจะยอมรับให้ไทย ชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย เป็นสินค้าเกษตรได้ เช่น ข้าว และ ยางพารา
สำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับระบบรถไฟของจีน เป็นการเตรียมหารือในเบื้องต้น ถึงความเป็นไปได้โดยยังไม่ได้ลงในรายละเอียด เนื่องจากยังมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกมาก และการดำเนินการต้องเป็นระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น โดยหลังจากลงนามบันทึกความเข้าใจ จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้สินค้าเกษตรชำระค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบรถไฟในประเทศไทย และหากผลการศึกษาพบว่า ไม่เหมาะสม รัฐบาลก็สามารถยุติการดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีผลผูกมัดต่อกัน