ทอท.ปรับเพิ่มภาษีสนามบิน 100%
ภาษีสนามบิน เฉพาะที่อยู่ในความดูแลของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.เคยมีการปรับขึ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 หรือกว่า 6 ปีแล้ว โดยภาษีสนามบินของผู้โดยสารภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากเที่ยวละ 50 บาท เป็น 100 บาท และผู้โดยสารต่างประเทศจากเที่ยวละ 500 บาท เป็น 700 บาท ซึ่งเหตุผลในการปรับภาษีสนามบินครั้งนั้น เนื่องจากการย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปยังสุวรรณภูมิ ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้น ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. เมื่อวานนี้ ได้เห็นชอบการปรับขึ้นภาษีสนามบินอีกครั้ง เพื่อลดภาระการขาดทุน ทั้งนี้ รายได้จากภาษีสนามบินผู้โดยสารต่างประเทศอยู่ที่ปีละ 10,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากภาษีสนามบินผู้โดยสารภายในประเทศขาดทุน 7,000 ล้านบาท
ตามแนวทางของ ทอท. ภาษีสนามบิน หรือค่าบริการผู้โดยสารขาออก PSC ทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะถูกปรับเพิ่มอีก 1 เท่าตัว ซึ่งผู้โดยสารภายในประเทศ จะเพิ่มจาก 100 บาท เป็น 200 บาท ต่อเที่ยว ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มจาก 700 บาท เป็น 800 บาทต่อเที่ยว เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ทั้งนี้ ทอท.จะเสนอแนวทางการปรับค่าบริการดังกล่าวต่อ คณะกรรมการการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม เพื่อให้อนุมัติต่อไป ขณะที่นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งคำถามไปที่ ทอท.ว่า ที่ผ่านมา ผลประกอบการแต่ละปีก็มีกำไร แต่ทำไมจึงเก็บค่าภาษีสนามบินเพิ่ม แต่หากต้องการจัดเก็บ ทอท.ควรแสดงศักยภาพการบริหารจัดการที่ดีขึ้นด้วย
อีกแนวคิดหนึ่งของภาครัฐที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวบางส่วนมีความเป็นห่วง นั่นคือการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศของชาวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ครั้งละประมาณ 500 บาท แต่ถ้าอยู่ไม่นาน หรือราว 3 วัน ก็จะเก็บวันละ 30 บาท
ค่าธรรมเนียมดังกล่าว นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบต่างๆ เช่น การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ไม่มีเงินเดินทางกลับประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน
นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะมาตรการดังกล่าวไม่มีการระบุเป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ หากต้องการจะคัดกรองนักท่องเที่ยวคุณภาพ ก็ควรระบุเฉพาะประเทศที่มีปัญหา และหาแนวทางแก้ไขเป็นรายประเทศ
ด้านนางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่านักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 มีประกันสุขภาพของตัวเองอยู่แล้ว หากต้องการให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมาไทย ก็ควรใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 500 บาท ถือว่าสูงเกินไป ขณะที่ต่างประเทศเฉลี่ย 50 บาทต่อวัน