ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์แนวทางกฎหมาย หลังศาลรธน.วินิจฉัยกรณีแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.

การเมือง
20 พ.ย. 56
13:17
123
Logo Thai PBS
วิเคราะห์แนวทางกฎหมาย หลังศาลรธน.วินิจฉัยกรณีแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ยืนยันว่ามีอำนาจโดยชอบตามรัฐธรรมนูญที่จะรับวินิจฉัยคำร้อง ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.เข้าข่ายกระทำการตามมาตรา 68 หรือไม่ และมีคำวินิจฉัยว่า กระบวนการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีการใช้เอกสารปลอม,การตัดสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาในการแปรญัตติร่างกฎหมาย และการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากชี้ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.เข้าข่ายกระทำการตามมาตรา 68 แต่การกระทำของสมาชิกรัฐสภา 312 คนยังไม่เข้าเงื่อนไขให้ต้องพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิ์และยุบพรรคการเมืองต้นสังกัด ทั้งนี้เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว โดยกระบวนการต่าง ๆจะเป็นอย่างไร ติดตามจากบทวิเคราะห์

 
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำวินิจฉัยกลาง ชี้ขาดคำร้อง 4 คำร้องใน 1 สำนวนเพียง 40 นาที แต่กระบวนการวินิจฉัยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 09.00 - 13.20 น. ถือว่าเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เพราะตุลาการแต่ละท่าน ต้องอ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวก่อน แล้วจึงมีการลงมติชี้ขาดในแต่ละประเด็น จากนั้นจะยกร่างคำวินิจฉัยกลางและอ่านคำวินิจฉัยนั้นออกมา
                  
<"">
เรื่องกระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 : 3 ชี้ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 122 ว่าด้วยผู้แทนปวงชนชาวไทยย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำใด ๆ ขัดต่อมาตรา 125 ว่าด้วยประธานสภาและประธานวุฒิสภา มีอำนาจดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อบังคับและต้องวางตนเป็นกลาง และขัดต่อมาตรา 126 ว่าด้วยสมาชิกรัฐสภา 1 คนย่อมมี 1 เสียง ขัดต่อมาตรา 291 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ และขัดต่อมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
 
นั่นเพราะศาลพบว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขที่มาส.ว. ที่เสนอเป็นญัตติ กับ ที่แจกจ่ายต่อสมาชิกรัฐสภา เป็นคนละฉบับกัน ซึ่งถือว่า ผู้เสนอมีเจตนาไม่แจ้งข้อเท็จจริงต่อรัฐสภา ดังนั้นการลงมติเห็นชอบวาระที่ 1 ไม่ชอบด้วยกEหมาย และพบว่า มีการตัดสิทธิ์ผู้เสนอคำแปรญัตติ รวม 57 คน ที่สำคัญศาลพบว่า การลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรแทนกันเกิดขึ้นจริง
                 
<"">
รวมถึงการที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมาก " 5 : 4 " ชี้ว่า เนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งต่อหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และเข้าข่ายการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจตามการปกครอง โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่การกระทำของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ยังไม่เข้าเงื่อนไขเพิกถอนสิทธิ์ และตัดสินยุบพรรคการเมืองต้นสังกัดแต่อย่างใด
 
กระบวนการหลังจากนี้ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เห็นว่า สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ 312 คนที่อยู่ในฐานะผู้ถูกร้องต้องแสดงความรับผิดชอบกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด ณ วันนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขที่มาส.ว. ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯไปแล้ว ตามมาตรา 291 และ 150 ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ภายใน 20 วัน ดังนั้นนายกรัฐมนตรี คงต้องเข้าสู่กระบวนการขอคืน 
              
<"">
ก่อนหน้านี้ ส.ว.กลุ่ม 40 นำโดยนายตวง อันทะไชย,นายประสาร มฤคพิทักษณ์ และนายวันชัย สอนศิริ เข้ายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและตั้งกรรมการไต่สวนกรณีที่สมาชิกรัฐสภา 308 คน เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่มาส.ว. เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่
 
เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน โดย 138 ส.ส. ที่ยังเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางทางการ ในการควบคุมการประชุมรัฐสภา เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งวุฒิสภา ก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนชี้มูล ก่อนส่งกลับมาให้วุฒิสภาลงมติ
 
ดังนั้น ก็มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ชุดเดิม และ ส.ว.กลุ่ม 40 กลุ่มนี้ จะเข้ายื่นเอกสารหลักฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติม และ ป.ป.ช. ก็อาจนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปผนวกเป็นเอกสารข้อกล่าวหาเดิม จนเป็นที่คาดการณ์กันว่า น้ำหนักข้อกล่าวหาจะเพิ่มขึ้น
 
และนั่นอาจหมายถึง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และเรื่องก็จะเข้าสู่กระบวนการถอดถอน รวมถึงการส่งฟ้องผ่านอัยการสูงสุด หรือ ฟ้องตรงโดย ป.ป.ช. ไปยังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เนื่องจากมีข้อสังเกตว่า ในคำวินิจฉัยของศาล อาจอ้างอิงถึงความผิดในกฎหมายอาญาได้ด้วย หรือมองกันไปไกลกว่านั้น นั่นคือการยื่นฟ้องฐานกบฎ เพราะ 312 สมาชิกรัฐสภา มีมติและมีแถลงการณ์ "ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ"
 
นับจากนี้ไปก็คงต้องขึ้นอยู่กับบทบาทของนายกรัฐมนตรี ที่จะพิจารณาดำเนินการกับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อม ๆ กับองค์กรที่เกี่ยวข้องที่จะขับเคลื่อนแก้ไขกระบวนการที่ผิดพลาด ทั้งที่ต้องเกิดขึ้นตามคำวินิจฉัยและผลพวงของคำวินิจฉัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง