คปท. เตรียมยื่น ปปช. สอบ
ภายหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ให้ยกคำร้อง เรื่อง การยุบพรรค เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการพิจารณา ในวันนี้ (21 พ.ย.) กลุ่ม คปท.จะยื่นหนังสือต่อ ปปช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกรณี ส.ส.และ ส.ว. ที่แถลงไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า เข้าข่ายในความผิดข้อหากบฏหรือไม่
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ยื่นคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พอใจกับคำวินิจฉัยที่ออกมา โดยเรื่องนี้เป็นบทเรียนว่า การมีเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ถูกต้องเสมอไป เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรมด้วย และเห็นว่า ผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะต้องลาออกจากตำแหน่ง
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องคดีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นคำร้องต่อ ปปช. ใน 3 ประเด็น คือ 1.การประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญของส.ส. และส.ว. ถือเป็นข้อหากบฎ 2.จะยื่นถอดถอน 312 ส.ส. ออกจากตำแหน่ง 3.มีการใช้เอกสารปลอม คือ ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาในวาระแรก และวาระ 3 เป็นคนละชุดกัน เท่ากับใช้เอกสารราชการเท็จซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา
ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน กล่าวถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า แม้วันนี้ รัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. จะยังทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่อยากให้พี่น้องเสื้อแดงและคนรักประชาธิปไตยทั้งแผ่นดินรวมตัวกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกประการ เนื่องจากเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ ที่ถูกสร้างโดยผลพวงรัฐประหาร จึงขอปลุกระดมคนเสื้อแดงว่า หากมีโอกาสต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พร้อมระบุให้สมาชิกรัฐสภาเดินหน้าโหวตวาระ3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
ขณะที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจเจตนารมย์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ หรือไม่ ที่เห็นว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งดีกว่า ส.ว.เลือกตั้ง โดยยืนยันว่า ไม่ขอรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเอาคน 6-7 คน มาทำหน้าที่ตัดสินความถูกผิดของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย