ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ป.ป.ช." ไต่สวนถอดถอน "สมศักดิ์-นิคม-สมาชิกรัฐสภา"

การเมือง
21 พ.ย. 56
13:14
118
Logo Thai PBS
"ป.ป.ช." ไต่สวนถอดถอน "สมศักดิ์-นิคม-สมาชิกรัฐสภา"

จนถึงขณะนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวยอมรับว่าสับสนกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หลังวินิจฉัยกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.2556) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุม ส.ส.นัดพิเศษในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.2556) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการต่อไป พร้อมเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล ในวันที่ 25 - 27 พ.ย.2556

ขณะที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติตั้งองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีคำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งสมาชิกรัฐสภา ประธานและรองประธานรัฐสภา ขณะที่ ส.ว.กลุ่ม 40 เตรียมแนบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.เพิ่มเติมเอาผิดทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีอาญาด้วย
 
ผลการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.กรณีรับเรื่องร้องเรียน และคำร้องขอให้ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง รวมทั้งหมด 5 เรื่อง โดยข้อกล่าวหา คือการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ป.ป.ช.เห็นชอบที่จะพิจารณาคำร้องทั้งหมด แต่มีมติรวมเป็นเรื่องเดียว โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง แต่มีกรรมการ 3 คนที่จะรับผิดชอบสำนวน
 
หลังจากนี้จะส่งเอกสารแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเตรียมพร้อมต่อสู้ชี้แจ้ง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดในการสืบสวน พร้อมกล่าวว่า ทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยคำร้องแรก กล่าวหากรณีลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.
 
คำร้องที่ 2 กรณีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์,คำร้องที่ 3 และ 4 กรณีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช และคำร้องที่ 5 กรณีสมาชิกรัฐสภาเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันมีรายงานว่า กรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ จะเรียกประชุมวางกรอบการไต่สวนข้อเท็จจริงนัดแรกในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.2556) เนื่องจากในคำร้องอ้างอิงพฤติการณ์ต่างกัน ทั้งกล่าวหาสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งมี 308 คน และกล่าวหาสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบหลักการหรือวาระที่ 1 ซึ่งมี 312 คน
 
แต่กรณีการลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือวาระที่ 3 รวม 358 คน จึงต้องวางกรอบการเอาผิดในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ ทั้งกรณีถอดถอน ทุจริตและอาญาและจนถึงขณะนี้ นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานรัฐสภา ยอมรับว่า ยังสับสนกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ทั้งนี้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา แต่ทั้งนี้ก็พร้อมที่จะมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายรัฐสภาไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช.
 
ขณะที่ ส.ว.กลุ่ม 40 นำโดยนายวันชัย สอนศิริ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา แถลงว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.2556) จะเข้ายื่นเอกสารแนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. ต่อ ป.ป.ช.เพื่อเป็นหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาคำร้องที่ยื่นไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการฟ้องในคดีอาญาด้วย
 
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เรียกประชุม ส.ส.นัดพิเศษในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.2556) เพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะแนวทางทางการเมืองที่จะคู่ขนานไปกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังประธานสภาผู้แทนราษฎรตอบรับที่จะบรรจุวาระให้ และวิปรัฐบาลวางกรอบวันอภิปราย ตั้งแต่วันที่ 25 - 27 พ.ย. 2556


ข่าวที่เกี่ยวข้อง