ผลสอบเหตุ นปช.ชุมนุมเปิดออกมาบางส่วน จนท.รัฐ-นปช.ต่างละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ออกแถลงการณ์เลื่อนการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ออกไปโดยไม่มีกำหนด แม้จะยอมรับว่า กสม.ได้ข้อสรุปแล้ว แต่กรรมการบางคนเห็นว่าควรพิจารณาประเด็นอื่นเพิ่มเติมเพื่อความครบถ้วน รอบด้าน และ เป็นไปตามหลักสากล ว่าด้วยหลักปารีสที่ต้องเป็นกลาง อิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และน่าเชื่อถือ ที่สำคัญต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจรัฐใด
และมีข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งเนื้อหาเป็นเอกสารที่ระบุวันที่ 8 ก.ค.ปี 2554 โดยอ้างว่า เป็นเอกสารที่ นพ.ชูชัย ในฐานะประธานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง และ รวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์การชุมนุมเสนอที่ประชุม กสม.ในวันที่ 6 ก.ค.จำนวน 80 หน้า รวม 9 กรณี โดยกรณีที่แยกคอกวัว พบว่า การชุมนุม นปช. มิไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และ มีการวางแผนฆาตกรรมนายทหารระดับสูง ส่วนแผนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐไร้ประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ประชาชนได้รับความสูญเสีย
เหตุการณ์ที่แยกศาลาแดงพบว่า การยิงระเบิดเอ็ม 75 ทั้ง 5 ลูก มาจากทิศทางของผู้ชุมนุม และ การเข้าแก้ไขสถานการณ์รุนแรงของรัฐ กลับเลือกปฏิบัติเป็นเหตุให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนเหตุการณ์ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ พบว่า ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นฝ่ายใดกระทำการ แต่พบว่าทหาร และ ประชาชน ถูกยิงจากระยะไกล เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กลุ่ม นปช. เข้าข่ายบุกรุก และ ละเมิดสิทธิผู้ป่วย
ขณะที่การสั่งการของรัฐในวันที่13-19 พ.ค.ด้วยแผนกระชับพื้นที่แยกราชประสงค์เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อเนื่อง และ ถือได้ว่าเป็นการกระทำของทหารแต่พฤติการณ์เผาห้างสรรพสินค้าและอาคาร คือ ฝ่ายผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายอาญา ส่วน 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นการกระทำของฝ่ายใด
สำหรับการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินของรัฐและเข้าระงับการออกอากาศของสื่อ พีทีวี และ วิทยุชุมชน ถือเป็นอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ตั้งแต่เริ่มจนถึงวันสลายถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นและประเด็นของการเสียชีวิต หรือ บาดเจ็บ ของสื่อมวลชนไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง