สัมภาษณ์พิเศษ 1 ปี รัฐประหาร | เรื่องของ
หลังมีการออกประกาศ คสช.ที่ให้นำพลเรือนที่ตกเป็นผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรรมของศาลทหาร พลเรือนต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีอย่างไร
ก็เหมือนกับคดีอาญาโดยทั่วไป ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นพลเรือนจะเข้าสู่กระบวนการปกติของพนักงานสอบสวน ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอก็จะมีความเห็นสั่งฟ้อง ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในประกาศ คสช . 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 37, 38 และ 50 ตำรวจจะทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องมาที่อัยการทหาร
อัยการทหารในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทหารมีอยู่ในกรุงเทพมหานคร คือ ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งอยู่ภายใต้กรมพระธรรมนูญ นอกจากนี้ก็จะมีอัยการทหารที่อยู่ในมณฑลทหารกับจังหวัดทหาร เมื่ออัยการทหารตรวจสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้และเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะเสนอไปยังหัวหน้าอัยการทหารให้สั่งไม่ฟ้องคดี ถ้าในต่างจังหวัดจะส่งไปยังผู้บัญชาการมณฑลทหารบกหรือผู้บังคับการจังหวัดทหารบก แต่ถ้ามีกรณีที่มีพยานหลักฐานที่เพียงพอสำหรับทำการฟ้องได้ก็จะทำความเห็นเสนอไปยังหัวหน้าอัยการทหารและผู้การจังหวัดเพื่อสังคดีฟ้องต่อไป นี่คือความแตกต่างของอัยการพลเรือนและอัยการทหาร คือ อัยการทหารไม่ได้สั่งคดีเองแต่ให้ผู้บังคับบัญชาคือหัวหน้าอัยการทหารเป็นผู้สั่งคดี
คดี คสช.เมื่อพลเรือนถูกควบคุมตัวจะถูกนำตัวไปที่ไหน กระบวนการสืบสวนเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นพลเรือน ในชั้นพิจารณาคดี หากจำเป็นต้องควบคุมตัวจำเลยจะส่งตัวไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม แต่ถ้าจำเลยเป็นทหารจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำทหาร
กฎอัยการศึกให้อำนาจศาลทหารควบคุมตัวบุคคลได้นาน 7 วัน ช่วง 7 วันนี้มีการปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกคุมตัวอย่างไรบ้าง
กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายความมั่นคง ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ ให้อำนาจฝ่ายทหารกักตัวไว้ 7 วัน เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจกักตัวไว้เพื่อนำมาซักถามถึงเหตุผลที่มีการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายทหาร บางทีเราจะเห็นทางภาพข่าวว่าเป็นการเอาตัวมาปรับทัศนคตินั่นเอง ถ้าในระหว่าง 7 วัน ได้มีการสอบถามแล้วมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าบุคคลนั้นมีพฤติการณ์ของการกระทำที่มูลความผิดทางอาญา จะส่งให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินคดีอาญาต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคดีต้องผ่านการกักตัวตามกฎอัยการศึก 7 วัน
สิทธิของผู้ต้องหาพลเรือนที่เข้าสู่ศาลทหารเป็นอย่างไร
กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารต่างจากศาลของพลเรือน ระบบศาลทหารสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของประเทศ แนวคิดที่มาของระบบศาลทหารตั้งขึ้นมาเพื่อระบบการปกครองของทหาร เนื่องจากว่ากองทัพที่เรารามองเห็นอยู่ ต่อให้มีกำลังรบ กำลังพลดีแค่ไหน ถ้าการปกครองบัญชาหรือวินัยไม่ดี การจะได้มาซึ่งชัยชนะเป็นไปไม่ได้เลย ศาลทหารเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนในการช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาในการทำให้กำลังพลได้รับความยุติธรรมในรูปแบบของทหารที่ควรจะเป็น ช่วยผู้บังคับบัญชา ในการใช้ความยุติธรรมกับทหารได้
แต่ในกรณีที่เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ เวลาที่มีการสู้รบ ภาวะสงคราม หรือในเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก สถานการณ์เหล่านี้เป็นเวลาไม่ปกติ โดยที่กองทัพต้องเข้าไปมีส่วนในการรักษาความสงบเรียบร้อย ศาลทหารจึงเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย ทำให้ศาลทหารจำเป็นต้องมีเครื่องบางอย่างที่ทำให้การพิจารณาคดีสำเร็จโดยรวดเร็ว นั่นหมายความว่ากำหนดให้คดีที่เกิดขึ้นไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา คดีจบที่ศาลทหารชั้นตั้นชั้นเดียว ส่วนเรื่องทนายความนั้น จำเลยมีสิทธิแต่งทนายเพื่อต่อสู้คดีในศาลทหาร
ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร ถ้าได้มีการประกาศกฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ใดคดีจะไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา เมื่อเลิกกฎอัยการศึกหมายความว่าเป็นเวลาปกติ คดีก็จะมีการอุทธรณ์ ฎีกาได้ตามปกติ
ทำไมกระบวนการพิจารณาบางคดีจะต้องปิดลับ
ศาลพลเรือนก็มีการพิจารณาลับเช่นกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าเป็นคดีเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่ หรือเป็นคดีที่เกี่ยวกับเด็ก การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ศาลจะใช้กระบวนพิจารณาเป็นการลับ เรื่องพิจารณาเป็นการลับไม่ได้มีแต่เฉพาะศาลทหาร ศาลพลเรือนก็มี
มีกระแสเรียกร้องจากนานาชาติ ภาคประชาสังคม ให้ยกเลิกนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร มีความเห็นอย่างไร
เรื่องพลเรือนควรขึ้นศาลทหารหรือไม่ ถามผมไม่ได้หรอก หรือว่าถามบุคลากรในศาลทหารก็ไม่ได้ เพราะว่าบุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ คำถามนี้น่าจะถามหัวหน้า คสช. เป็นเหตุผลของฝ่ายความมั่นคงมากกว่า
พ.ร.บ.ศาลทหารที่เพิ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างจากพ.ร.บ.ฉบับเดิมอย่างไร
มีความแตกต่างเยอะ ตอนทำร่าง พ.ร.บ. ไม่ใช่ว่าเริ่มทำในยุค คสช. แล้วจะมองว่าทางกรมพระธรรมนูญหรือกระทรวงกลาโหมฉวยโอกาสในช่วงการยึดอำนาจ พ.ร.บ.ศาลทหารฉบับใหม่ดำเนินการมาตั้งแต่ 2551-2552 ตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ช่วงสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมีการบรรจุเข้าไปในระเบียบวาระ แต่มีการยุบสภาทำให้ร่างตกไป พอเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลมีนโยบายไม่ยืนยันร่าง แต่พอยุบสภาและมีการรัฐประหารจึงเสนอร่างขึ้นไปใหม่ และร่างผ่าน สนช. เนื่องจากเป็นยุคที่ไม่มีการติดขัดเลยทำให้ผ่านและประกาศใช้
หลักการทำร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ได้แก่ 1) แก้ให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาได้ทุกตัวบทกฎหมาย เว้นคดีที่จำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตร 2) เคารพหลักสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีหญิงมีครรภ์ถ้าต้องโทษประหารชีวิตยังไม่ให้ประหาร ให้รอจนคคลอดบุตรและถ้าเลี้ยงดูบุตรไป 3 ปี ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต 3) การอุทธรณ์ให้สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลทหารสูงสุด 4) เรื่องทนายให้ทัดเทียมกับศาลยุติธรรม คดีที่ต้องประหารชีวิต ถ้าจำเลยไม่มีทนายต้องตั้งทนายให้
ส่วนมาตรา 46 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้นเป็นมาตราที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาควบคุมตัวทหารได้ในระหว่างสอบสวน ทั้งนี้เป็นเพราะทหารต้องมีการย้ายที่ตลอดเวลา เช่น ออกไปประจำการในต่างประเทศ เมื่อทหารกระทำความผิดทางอาญาก็ไม่รู้จะใช้อำนาจของศาลทหารได้อย่างไรเพราะเราไม่มีหน่วยศาลทหารในต่างประเทศ จึงแก้ไขมาตรา 46 ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการควบคุมได้ แต่เฉพาะที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็น เมื่อเหตุจำเป็นหมดไปต้องใช้อำนาจของศาลทหารในควบคุมตามกรอบเวลาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด ทั้งนี้ มาตรา 46 ไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารเลย กล่าวคือ พลเรือนที่กระทำความผิดตามประกาศ คสช.จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยผู้บังคับบัญชาทหาร ผู้บังคับบัญชาทหารจะไปอ้างเหตุสุดวิสัยเหตุจำเป็นที่จะควบคุมตัวพลเรือนในคดี ของ คสช.ไม่ได้ ยกเว้นพลเรือนที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารเช่น พลเรือนสังกัดราชการทหาร
ศาลทหารจัดการคดีที่เพิ่มขึ้นมาอย่างไร
ศาลทหารมีคดีค่อนข้างเยอะ แต่บุคลากรที่เป็นตุลาการของศาลทหารมีไม่ถึง 100 คน เมื่อมีคดี คสช.ที่เข้ามาสู่การพิจารณาของศาลทหารทำให้งานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว คดีเข้ามาสู่อำนาจในศาลทหารจนงานล้นมือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามจะทำให้เร็วขึ้นและได้ตัดสินคดีไปหลายคดีแล้ว
ขณะนี้คดีของพลเรือนที่มาขึ้นศาลทหารมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่าว่าคดีที่เคยอยู่ในศาลพลเรือน ศาลทหารต้องเอามาทำ แต่ด้วยเหตุผลความมั่นคง ศาลทหารทำตามกฎหมายเท่านั้น เมื่อประกาศ คสช.มีผลบังคับเป็นกฎหมาย ศาลทหารก็ต้องทำตามกฎหมายจนกว่าคสช.จะมีประกาศออกมาเปลี่ยนแปลง
ช่วยเล่าถึงการพิจารณาคดีพลเรือนตามประกาศ คสช.
ใช้หลักของกฎหมายในการรับฟังพยานหลักฐานเหมือนศาลยุติธรรม นั่นคือต้องมีหลักฐานเพียงพอในการลงโทษจำเลย ศาลทหารปฏิบัติกับทหารอย่างไรก็ต้องปฏิบัติกับพลเรือนอย่างนั้น เรื่องอัตราโทษก็เช่นกัน จะให้ศาลทหารปฏิบัติกับพลเรือนอย่างหนึ่งและทหารอย่างหนึ่งด้วยมาตรฐาน 2 อย่างทำไม่ได้ อัตราโทษที่ลงกับทหารอย่างไรก็ต้องลงกับพลเรือนอย่างนั้น นี่เป็นการรักษามาตรฐานของศาลทหาร
ผมอยากบอกกับประชาชนว่า มีหลายครั้งที่พบว่าประชาชนไม่ไว้เนื้อเชื่อใจศาลทหาร ผมคิดว่าคนที่คิดอย่างนั้นเค้าไม่เข้าใจหรือว่าไม่เห็นภาพของศาลทหารจริงๆ แต่กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารไม่ได้มีความแตกต่าง คือ มีความเป็นศาลจริงๆ มีกระบวนการในการพิจารณาของศาลที่รอบคอบ ระบบการพิจารณาคดีเป็นระบบกล่าวหาไม่ต่างจากศาลพลเรือน องค์คณะมี 3 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นผู้เขียนคำพิพากษา และมีการส่งร่างคำพิพากษาผ่านการกลั่นกรอง 3-4 คน และรวมกับความเห็นองค์คณะ 2 คน กระบวนการไม่ใช่ง่ายเป็นไปด้วยความประณีต ตุลาการศาลทหารก็มีความรู้ความสามารถ ทุกคนผ่านโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่าจะหยิบเอาใครก็ได้มาทำเพราะต้องทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ด้วย