ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เตือน ผงหมึก-สารเคมี เครื่องถ่ายเอกสารอันตราย แนะใช้อย่างระวัง

สังคม
26 พ.ค. 58
06:56
15,736
Logo Thai PBS
สธ.เตือน ผงหมึก-สารเคมี เครื่องถ่ายเอกสารอันตราย แนะใช้อย่างระวัง

รมว.สธ.หวั่นผงหมึก สารเคมี แสงหลอดไฟพลังงานสูง และสารเรืองแสงเคลือบลูกกลิ้งจากเครื่องถ่ายเอกสาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้งาน เตือนหากใช้ไม่ระวังอาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจถึงขั้นสูญเสียการรับรู้กลิ่น การทำงานของตับและไตบกพร่อง และยังเป็นสารก่อมะเร็ง แนะสวมถุงมือ-หน้ากากเวลาเคลื่อนย้ายผงหมึก ติดพัดลมดูดอากาศ และตั้งเครื่องถ่ายเอกสารห่างไกลผู้คน

วันที่ 26 พ.ค. 2558 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ในสำนักงานก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ใช้งานในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นสารเคมี โอโซน และแสงยูวีจากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูงของเครื่องถ่ายเอกสาร

โดยผลกระทบจากการได้รับโอโซนในระดับความเข้มข้น 0.25 ppm ขึ้นไป จะทำให้ดวงตา จมูก คอ เกิดการระคายเคือง หายใจสั้น และสูญเสียการรับรู้กลิ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยง ส่วนรังสียูวีจากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูงจะทำให้ปวดศีรษะ แสบตา กระจกตาอักเสบ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง

                            

<"">

                           รังสียูวีจากหลอดไฟเครื่องถ่ายเอกสารทำให้กระจกตาอักเสบได้

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อวา ขณะที่ผงหมึกทั้งแบบผงคาร์บอนดำ 100 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพลาสติกเรซิน ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และผงหมึกละลายในสารอินทรีย์ประเภทปิโตรเลียมในเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นสารเคมีอันตราย จึงต้องระมัดระวังขณะเติมหมึก รวมทั้งขณะทำความสะอาดหรือกำจัดฝุ่นผงหมึกที่ใช้แล้ว หากพบผงหมึกเปื้อนติดกระดาษจำนวนมากควรหยุดการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร แล้วติดต่อบริษัทเพื่อซ่อมบำรุง เพราะหากสูดดมผงหมึกทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ

                             

<"">

               ผงหมึกในเครื่องถ่ายเอกสารเป็นสารเคมีอันตราย ควรเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือเปล่า

“สำหรับสารเคมีอื่น ๆ เช่น เซเลเนียม แคดเมียมซัลไฟด์ ซิงค์ออกไซด์ และโพลิเมอร์บางตัว มีลักษณะเป็นสารเรืองแสงใช้เคลือบลูกกลิ้งในเครื่องถ่ายเอกสาร สามารถระเหยออกมาได้ในระหว่างถ่ายเอกสาร แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ถ้าสูดดมเข้าสู่ร่างกายบ่อยๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ตา เยื่อเมือกกระเพาะอาหาร ลิ้นเฝื่อน ถ้าได้รับในระดับเข้มข้นจะเป็นอันตรายต่อตับและไต ส่วนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งแม้ถูกปล่อยออกจากเครื่องถ่ายเอกสารน้อยกว่าเซเลเนียม แต่เป็นอันตรายมากกว่า” รมว.สธ.ระบุ

ทางด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัย เมื่อถ่ายเอกสารทุกครั้งควรปิดฝาครอบให้สนิท พร้อมทั้งติดตั้งพัดลมดูดอากาศเฉพาะที่ในห้องถ่ายเอกสาร สวมถุงมือขณะเติมหรือเคลื่อนย้ายผงหมึก ควรใส่หน้ากากกันฝุ่นเคมี โดยผงหมึกที่ใช้แล้วหรือผงหมึกที่หกตามพื้นในขณะที่เติมต้องนำไปกำจัดลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด อีกทั้งควรบำรุงรักษาเครื่องเป็นประจำ และให้ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารแยกไว้ที่มุมห้องที่ไกลจากคนทำงาน และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเอกสาร ควรได้รับการแนะนำอบรมวิธีการใช้ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกกลิ้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง