ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 องค์กรสื่อมวลชน เสนอกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ ม.49 และ 50

การเมือง
26 พ.ค. 58
07:10
236
Logo Thai PBS
4 องค์กรสื่อมวลชน เสนอกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ ม.49 และ 50

วันนี้ (26 พ.ค.2558) ตัวแทนองค์กรสื่อมวลชน 4 องค์กรยื่นข้อเสนอเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานคณะกรรมการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยข้อให้แก้ไขใน 2 มาตราหลักๆ คือ มาตรา 40 ว่าด้วยกฎหมายองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรา 50 ว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปิดเผยหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

องค์กรสื่อมวลชนทั้ง 4 ประกอบด้วย  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
รายละเอียดข้อเสนอมีดังนี้ ซึ่งมีข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญดังนี้

1)  มาตรา 49 วรรคสี่
บัญญัติว่า "ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา 48 ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา 48 และคุ้มครองสวัสดิการของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง"

องค์กรสื่อเห็นสมควรเสนอขอให้มีการแก้ไขเป็น  "ให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งประกอบด้วย บุคคลในวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งผู้แทนองค์การเอกชนและผู้บริโภค เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนตามมาตรา 48 ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานและความรับผิดชอบแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพตามมาตรา 48 และคุ้มครองสวัสดิการภาพของบุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง"

โดยมีหลักการและเหตุผลคือ เพื่อให้ข้อความสั้นมีความกระชับแต่มีความหมายที่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของการยกร่างเดิม โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการตีความหมายในขั้นตอนการออกกฎหมายลำดับรองไปในทิศทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมากจนเกินหลักความจำเป็นและหลักการได้สัดส่วน

นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการแทรกแซงหรือการครอบงำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จึงไม่ควรกำหนดให้สื่อได้รับการ "คุ้มครองสวัสดิการ" ซึ่งเป็นการสร้างภาระหน้าที่ให้แก่รัฐในการต้องจัดหาหรือจัดให้มีสวัสดิการแก่ผู้ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพสื่อขึ้นเป็นการ "พิเศษ" ที่แตกต่างจากวิชาชีพหรืออาชีพอื่น

ในทำนองกลับกัน คำว่า "สวัสดิภาพ" ของผู้ประกอบวิชาชีพหรืออาชีพสื่อกลับเป็นคำที่มีความหมายต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนมากกว่า เพราะสมควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพซึ่งหมายถึง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ซึ่งอาจหมายความรวมถึงการได้รับการคุ้มครองหรือความปลอดภัยทางด้านการคิดหรือการแสดงออกในลักษณะต่างๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย) เพราะเมื่อสื่อได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพหรือความปลอดภัยแล้ว จะส่งผลให้สื่อมวลชนสามารถบรรลุเป้าหมายของการปฏิบัติหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้ครบถ้วนสมบูรณ์มาก อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้ในที่สุด

ในกรณีที่จะมีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ต่อไปในอนาคตนั้น องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กร มีข้อเสนอแนะว่า แนวคิดการออกแบบกลไกเพื่อการกำกับดูแลสื่อมวลชน จำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่าง เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนควบคู่ไปกับเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนประการหนึ่ง และหลักของการใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบที่สื่อมวลชนพึงมีต่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญอีกประการหนึ่ง
 
การกำกับดูแลสื่อมวลชนของไทยได้เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอยู่ในสังคมไทยมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การนำเสนอข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและการกำกับดูแลจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประมวลแนวคิดสถานการณ์แวดล้อมและบริบทต่างๆ ในด้านการส่งเสริมและการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นมาแล้วและทิศทางที่กำลังดำเนินไปทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและสามารถนำไปเชื่อมต่อกับอนาคตได้

2) มาตรา 50 วรรคสอง
ที่บัญญัติว่า "ให้มีองค์การของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมและกิจการสารสนเทศ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติ และตามที่กฎหมายบัญญัติ"

เห็นสมควรเสนอขอให้มีการแก้ไขเป็น "ให้มีองค์การของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมและกิจการสารสนเทศ โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น คำนึงถึงบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายบัญญัติ"

โดยมีหลักการและเหตุผลคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์บัญญัติให้มีองค์การของรัฐที่เป็น อิสระเพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว บทบาทหน้าที่หลักขององค์กรนี้จะต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องหมายถึงบทบาทหน้าที่ใน 3 ระดับ ได้แก่ การจัดสรรคลื่นความถี่ (Frequency Allocation) การจัดแบ่งคลื่นความถี่ (Frequency Allotment) และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Frequency Assignment)

การนำเอาถ้อยคำ "ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายกำหนด" มาบัญญัติเป็นถ้อยคำต่อท้ายไว้ในวรรคดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการตีความไปในทิศทางที่ส่งผลทำให้องค์การของรัฐองค์การนี้กลายเป็นองค์การที่ไม่มีความเป็นอิสระได้ในที่สุด เพราะกระบวนการจัดทำ “ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติ” มักตกอยู่ภายใต้กลุ่มผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหมายถึงกลุ่มอำนาจทางการเมือง และอาจถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อันจะทำให้ขัดต่อหลักความเป็นอิสระได้ในที่สุด และไม่ว่าจะมีการบัญญัติคำว่า “และตามที่กฎหมายบัญญัติ” หรือไม่ก็ตาม บทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระองค์กรนี้ก็ย่อมต้องได้รับการกำหนดไว้โดยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติอยู่แล้ว การบัญญัติถ้อยคำ “ทั้งนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของชาติและตามที่กฎหมายกำหนด” อาจส่งผลให้เกิดการตีความเจตนารมณ์เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายไปในลักษณะอื่นที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงได้ในที่สุด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง