ธปท.ห่วงนโยบายรัฐกดดันเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจ
23 ก.ค. 54
08:35
14
Logo Thai PBS
ธปท.ห่วงนโยบายรัฐกดดันเงินเฟ้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวรื้อยละ 4 สูงกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.6 ตามการส่งออก โดยเฉพาะยานยนต์ที่ฟื้นตัวตามญี่ปุ่น และความชัดเจนด้านการเมืองหลังเลือกตั้ง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศประเมินว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

นายไพบูย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของรัฐบาล ถือเป็นมาตรการที่สำคัญ มีผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการปรับสูงขึ้น และมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพการผลิต ผลกระทบก็จะน้อยลง การปรับขึ้นค่าจ้างควรจะเป็นแบบทยอยปรับ เพราะหากปรับขึ้นในทันที อาจจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างชัดเจน

ดังนั้น ต้องรอดูความชัดเจน จากผลการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคี จึงจะประเมินผลกระทบได้ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลงบ้าง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทต่อวัน อาจทำให้ภาคธุรกิจเอกชนมีต้นทุนด้านแรงงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4-11 ตามแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มเอสเอ็มอีที่มี การพึ่งพาการส่งออกสูง และมีส่วนต่างระหว่างกำไรและต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม สื่งทอ เครื่องนุ่งห่ม กระเบื้อง และอาหารกระป๋องเป็นต้น ทั้งนี้ยังมีผลต่อการแข่งขัน เพราะจะทำให้ไทยมีอัตราค่าจ้างสูงกว่า เวียดนามถึง 5 เท่า สูงกว่า อินโดนีเซีย 2.5-4.6 เท่า

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 จากเดิมที่ร้อยละ 3.6 ปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ระดับร้อยละ 4.5-5.8


ข่าวที่เกี่ยวข้อง