ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทความ "ประจักษ์ ก้องกีรติ" : ระบบเลือกตั้ง "จัดสรรปันส่วนผสม" ปัญหาและทางออก

การเมือง
11 ก.พ. 59
17:57
7,142
Logo Thai PBS
บทความ "ประจักษ์ ก้องกีรติ" : ระบบเลือกตั้ง "จัดสรรปันส่วนผสม" ปัญหาและทางออก
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเขามองว่า "เป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางที่การเมืองไทยเผชิญอยู่" และ "จะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา"

ในช่วงที่ผ่านมามีผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างกว้างขวางแล้วในหลายประเด็น ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นระบบเลือกตั้งซึ่งยังไม่ได้ถูกวิเคราะห์เจาะลึกมากนัก (1)

ระบบเลือกตั้งที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่การเมืองไทยเผชิญอยู่ และเป็นระบบที่มีข้อบกพร่องเมื่อเทียบกับระบบที่ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 กระทั่งมีจุดอ่อนข้อบกพร่องมากกว่าฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพื่อที่จะเข้าใจนัยสำคัญของระบบเลือกตั้งที่เสนอในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จำเป็นที่เราจะต้องมีมุมมองเปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งที่เราใช้อยู่ก่อน และเปรียบเทียบกับนานาชาติ ผู้เขียนมีคำอธิบายและข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1

ระบบเลือกตั้งในโลกนี้มีอยู่ 3 แบบหลักเท่านั้น คือ ก.ระบบเสียงข้างมาก (majority or plurality system) ข. ระบบสัดส่วน (proportional system) และ ค.ระบบผสม (mixed system) ระบบเสียงข้างมากส่วนใหญ่มีแต่ ส.ส.เขต ซึ่งเป็นระบบที่ไทยใช้อยู่ก่อนปี 2540 ซึ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 ประเทศไทยได้เปลี่ยนมาใช้ระบบผสมที่มีผู้แทนสองประเภท (เขตและปาร์ตี้ลิสต์) และประชาชนมีบัตรเลือกตั้งสองใบในการลงคะแนน

2

ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การปฏิรูประบบเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่รวมทั้งในประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่หลายประเทศหันมานิยมระบบผสมจนกลายเป็นแนวโน้มทั่วโลก เพราะถือว่าตอบโจทย์ได้ครบเครื่อง คือมีทั้งผู้แทนเขตดูแลประชาชน และผู้แทนปาร์ตี้ลิสต์ดูแลนโยบายมหภาค และระบบนี้ยังช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและยังตอบโจทย์เรื่องความยุติธรรมของคะแนนไปพร้อมกัน

3

ระบบเลือกตั้งที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จึงถือว่ามาถูกทางแล้วเมื่อเทียบกับพัฒนาการระดับโลกและตอบโจทย์ปัญหาการเมืองไทยที่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานคือความไร้เสถียรภาพ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนำระบบผสมแบบเสียงข้างมากมาใช้ (เรียกว่า mixed member majoritarian system- MMM) โดยมีผู้แทนสองประเภททั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ โดยคำนวณคะแนนแยกจากกัน แก้ปัญหาการเลือกตัวบุคคลและการแข่งขันกันเองภายในพรรคการเมืองที่เป็นผลจากระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวหลายคน (ที่เรียกกันว่าระบบพวงหรือแบ่งเขตเรียงเบอร์) ที่เคยใช้มาเนิ่นนาน ซึ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ การแข่งขันไม่เน้นนโยบาย และการมีรัฐบาลผสมอายุสั้น ผู้สมัครมุ่งสร้างคะแนนนิยมเฉพาะฐานเสียงเลือกตั้งแคบๆ ของตน และมุ่งสัญญาว่าจะตอบแทนผลประโยชน์ในลักษณะของแรงจูงใจระยะสั้นที่เป็นสิ่งของ เงินทอง โครงการ มากกว่าที่จะมุ่งขายนโยบายที่เป็นเอกภาพและตอบสนองปัญหาระดับชาติ รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามพัฒนาระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง และขจัดมุ้งการเมือง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องตอบสนองกับฐานเสียงที่กว้างขวางในระดับชาติ ซึ่งถือว่ามาถูกทางแล้ว 

4

ระบบเลือกตั้งที่แก้ไขในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังคงใช้ระบบผสมเพียงแค่เปลี่ยนสัดส่วนระหว่างจำนวนส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ และเปลี่ยนเขตเลือกตั้ง แต่โดยหลักการแล้วยังคงหัวใจสำคัญของระบบผสมไว้คือ มีผู้แทนสองประเภทที่มาจากบัตรลงคะแนนสองใบ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้แทนได้ทั้งสองแบบ

5

ระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยคณะร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ ก็เป็นระบบผสม แต่เป็นระบบผสมที่เรียกว่าระบบผสมแบบสัดส่วน (mixed member proportional system- MMP) หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า "ระบบเยอรมัน" เนื่องจากเยอรมนีเป็นต้นตำรับ ระบบนี้ต่างจากระบบ MMM ที่ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ตรงที่มีการนำคะแนนของผู้แทนเขตกับปาร์ตี้ลิสต์มานับโดยผูกพันกัน (แต่ประชาชนยังคงมีบัตรสองใบให้ใช้สิทธิ) เพื่อเพิ่มความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนกับที่นั่งของแต่ละพรรคและลดทอนความได้เปรียบของพรรคขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามระบบ MMM ที่ฉบับนายบวรศักดิ์นำมาใช้ได้ถูกดัดแปลงให้ต่างออกไปจากระบบเยอรมัน (ใช้บัญชีรายชื่อแบบเปิดและไม่มีเพดานขั้นต่ำสำหรับพรรคการเมืองในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งทั้งสองประเด็นมีปัญหา) แต่ไม่ว่าระบบที่นำเสนอในฉบับบวรศักดิ์จะมีปัญหาบางประการ แต่ก็ถือว่าเป็นระบบสากล ผ่านการทดลองใช้มาในหลายประเทศทั่วโลก มีหลักการรองรับชัดเจน

6

ในขณะที่ระบบที่นำเสนอในร่างฯ ฉบับนายมีชัย ที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system- MMA) ที่ประชาชนมีบัตรเลือกตั้งได้แค่ใบเดียว เลือกได้แค่ ส.ส.เขต แต่นำคะแนนในระบบเขตไปคำนวณเพื่อกำหนดที่นั่งส.ส.ทั้งหมดของแต่ละพรรคและกำหนดจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย เป็นระบบผสมที่ไม่เป็นที่นิยม มีแค่ 4-5 ประเทศในโลกที่เคยทดลองใช้ระบบนี้และส่วนใหญ่ก็เลิกไปหมดแล้วเนื่องจากสร้างปัญหามากมาย อาทิ อัลบาเนีย (1992), เกาหลีใต้ (1996-2000), เยอรมัน (1949), เม็กซิโก, และเลโซโท ในกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีคำตัดสินในปี 2001 ว่าระบบเลือกตั้งที่ให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้งแบบเขตใบเดียวแต่นับคะแนนทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ (ซึ่งไทยกำลังจะนำมาใช้) นั้นผิดรัฐธรรมนูญเพราะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและสร้างระบบที่บิดเบือน (2)หลังจากนั้นเกาหลีใต้จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่ให้ประชาชนมีบัตรสองใบเหมือนประเทศอื่นๆ ในโลก

7

ปัญหาใหญ่ของระบบผสมแบบ MMA ที่ปรากฏในร่างของนายมีชัย ที่ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีใครใช้ หรือที่เคยใช้ก็เลิกใช้แล้ว คือ สร้างความสับสนและทำให้คะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะบัตรใบเดียวแต่คะแนนกลับถูกนับสองครั้งทั้งในระบบเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์ และสร้างระบบที่ไม่ยุติธรรมคือยิ่งพรรคได้ที่นั่งในระบบเขตมากขึ้นเท่าใดกลับยิ่งได้ผู้แทนในระบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงตามนั้น นอกจากนั้น ยังไม่สามารถแยกแยะและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ว่าประชาชนต้องการเลือกพรรคหรือเลือกตัวบุคคล เพราะปิดกั้นโอกาสในการใช้สิทธิอย่างเสรี บีบให้เลือกได้แค่คะแนนเดียว ในขณะที่ระบบที่มีบัตรเลือกตั้งสองใบทำให้ประชาชนมีสิทธิเต็มที่ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ดังที่พบในงานวิจัยจำนวนมากว่าในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาคนไทยใช้สิทธิอย่างชาญฉลาดและมียุทธศาสตร์มากขึ้น คือ ในระบบปาร์ตี้ลิสต์จะเลือกพรรคที่ตนอยากให้เป็นรัฐบาลเพราะชอบนโยบาย แต่ในระบบเขตอาจจะไม่เลือกคนจากพรรคนั้น เพราะคุณสมบัติด้อยจนรับไม่ได้ หันไปเลือก ส.ส.เขตที่มีคุณภาพดีกว่าของพรรคอื่น ระบบเลือกตั้งแบบมีชัยจะทำลายโอกาสที่ประชาชนจะใช้สิทธิแบบมีวิจารณญาณแบบนี้ลงไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นว่าจำใจต้องเลือกผู้แทนเขตที่ด้อยคุณภาพเพราะกลัวว่าพรรคที่ตนชอบจะเสียคะแนน (เพราะคะแนนผูกกัน) จะยิ่งทำให้ ส.ส.ด้อยคุณภาพเข้าสภามากขึ้น สวนทางเป้าหมายที่ผู้ร่างต้องการ (จะกล่าวถัดไป)

8

ระบบ MMA ยังจะมีปัญหาในการทำให้การซื้อเสียงเพิ่มขึ้นและการแข่งขันดุเดือดเอาเป็นเอาตายมากขึ้น เพราะเดิมพันในการแข่งขันแต่ละเขตเลือกตั้งสูงมาก (คะแนนเขตเลือกตั้งกำหนดทุกอย่าง) ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายท่านได้ชี้ไว้แล้ว การหาเสียงเชิงนโยบายจะลดลง การใช้อิทธิพลและเงินจะมากขึ้น (กลับไปเหมือนช่วงก่อนปี 2540) และจะสร้างรัฐบาลผสมที่อ่อนแอที่พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองสูง การต่อรองผลประโยชน์และตำแหน่งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้มข้นซึ่งเอื้อให้เกิดคอร์รัปชั่นอย่างสูง และไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ สวนทางกับคำโฆษณาว่าระบบเลือกตั้งแบบใหม่จะช่วยลดการโกงและสร้างการเมืองที่ใสสะอาด

9

มีผู้เชี่ยวชาญบางท่านลองคำนวณว่าหากนำระบบเลือกตั้งแบบ MMA มาใช้แต่ละพรรคจะได้ที่นั่งเท่าไหร่ (3) (โดยนำผลคะแนนในการเลือกตั้งระบบเขตของแต่ละพรรคในปี 2554 มาคำนวณ ซึ่งต้องหมายเหตุว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ [ในปี 2560?] ผลการเลือกตั้งอาจจะต่างจากที่คาดการณ์มาก เพราะผู้เลือกตั้งอาจตัดสินใจเลือกส.ส.เขตต่างไปจากเดิมที่เคยเลือกในปี 2554 เพราะตอนนี้เหลือบัตรแค่ใบเดียว)
ผลการคำนวณคร่าวๆ ออกมาดังนี้

สังเกตได้ว่าพรรคที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากระบบเลือกตั้งใหม่คือพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังชล และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยภูมิใจไทยถือว่าเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงในระบบใหม่นี้เพราะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นถึง 22 ที่นั่ง ส่วนพรรคเล็กนั้นจะสูญพันธุ์และไม่มีโอกาสแจ้งเกิด ส่วนเพื่อไทยนั้นก็จะมีที่นั่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือ หายไป 40 ที่นั่ง ในขณะที่ระบบเลือกตั้งนี้แทบจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด (ได้เพิ่มมาเพียง 1 ที่นั่ง)

เหตุที่พรรคใหญ่ทั้งสองพรรคเสียเปรียบในระบบใหม่เพราะโดยปรกติทั้งคู่ทำคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ได้ดีกว่าระบบเขต ส่วนพรรคขนาดกลางนั้นปรกติเก่งในระบบเขต แต่ล้มเหลวในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เนื่องจากไม่มีนโยบายที่เป็นจุดขายให้ประชาชนเลือก ระบบนี้ซึ่งเอาคะแนน ส.ส.เขตเป็นตัวตั้งจึงเป็นระบบที่ให้โบนัสกับพรรคขนาดกลางที่จริงๆ แล้วมีคุณภาพล้าหลัง จากงานวิจัยพบว่าพรรคขนาดกลางของไทยนั้นมีโครงสร้างองค์กรที่ขาดความเป็นประชาธิปไตย ขาดนโยบายและอุดมการณ์ และยังเน้นหาเสียงและดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองในรูปแบบเก่า (แบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ความนิยมลดต่ำลงเรื่อยๆ ในหมู่ผู้เลือกตั้งทั่วไป ที่ยังมีพื้นที่อยู่ได้ในระบบการเมืองเพราะอาศัยฐานเสียงแคบๆ ในจังหวัดที่ผู้นำพรรคมีอิทธิพลครอบงำอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยที่ระบบเลือกตั้งใหม่กลับไป “ตบรางวัล” ให้กับพรรคขนาดกลางเหล่านี้ ถึงระดับที่จะมีอำนาจต่อรองสูงมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะปราศจากความร่วมมือจากพรรคขนาดกลางเหล่านี้ พรรคใหญ่ทั้งสองพรรคย่อมไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ เกิดสภาพพรรคเล็กขี่คอพรรคใหญ่ (ที่ถูกทำให้อ่อนแอลง) ยิ่งในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งแทบไม่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งใหม่นี้) หากได้จัดตั้งรัฐบาล ก็จะเป็นแกนนำรัฐบาลที่มีภาวะการนำและอำนาจต่อรองเหนือพรรคร่วมรัฐบาลน้อยมาก (น้อยยิ่งกว่าช่วงปี 2551-2554)

10

ดังที่หมายเหตุไว้แล้วว่า การนำผลคะแนนของปี 2554 มาคำนวณ อาจจะไม่เที่ยงตรงกับผลที่จะเกิดขึ้นจริงทั้งหมด เพราะการเลือกตั้ง 2554 กระทำภายใต้ระบบที่ประชาชนยังมีบัตรเลือกตั้งสองใบให้เลือก คงไม่มีใครคาดเดาได้อย่างเที่ยงตรงว่าหากนำระบบใหม่มาใช้จริง พฤติกรรมการใช้สิทธิจะเป็นเช่นใด มีความเป็นไปได้ว่า ภายใต้สภาพความแตกแยกเป็นสองขั้ว ผู้เลือกตั้งจะใช้สิทธิในเชิง “ยุทธศาสตร์” คือเน้นเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ตนอยากให้เป็นรัฐบาล (ไม่ว่าคุณสมบัติผู้สมัครจะขี้เหร่เพียงใด) เพราะหากไม่เลือก พรรคที่เชียร์ก็จะแพ้และมีโอกาสน้อยในการจัดตั้งรัฐบาล (ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดในเม็กซิโก) ซึ่งก็จะเป็นปัญหาเพราะจะสร้างระบบผู้แทนที่สับสน (อยากได้พรรค ก็ต้องจำใจเลือกส.ส.เขต) ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การใช้ระบบผสมแบบบัตรเลือกตั้งสองใบย่อมดีกว่า

11

การออกแบบระบบเลือกตั้งที่ดี ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เป็นไทยหรือเทศ ประเด็นสำคัญกว่าอยู่ที่ว่ามันต้องตอบโจทย์ปัญหาการเมืองที่ประเทศเผชิญอยู่ และต้องเป็นระบบที่ออกแบบสำหรับระยะยาว ไม่ใช่มองปัญหาระยะสั้น ซึ่งในทุกประเทศที่มีการเมืองที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ จำเป็นต้องมีระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง การแข่งขันในการเลือกตั้งเน้นที่นโยบาย และรัฐบาลที่มั่นคง ยิ่งเราไม่พอใจคุณภาพของพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากเพียงใด เรายิ่งต้องออกแบบระบบที่มุ่งสร้างพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าเดิม สร้างแรงจูงใจและกติกาที่ดีให้พรรคการเมืองหาเสียงเชิงสร้างสรรค์ในทางนโยบายมากขึ้น การทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอรังแต่จะทำให้ประเทศไทยจมปลักอยู่ในวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

12

ระบบเลือกตั้งที่ดีต้องถูกออกแบบโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนรองรับ และในโลกนี้เป้าหมายของระบบเลือกตั้งที่ดีไม่ได้มีแค่การสร้างความยุติธรรมของคะแนน แต่ต้องคิดถึงเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาล ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง การขจัดการหาเสียงแบบเน้นตัวบุคคล ซื้อเสียงและใช้อิทธิพลโดยขาดนโยบาย หากระบบเลือกตั้งตอบโจทย์แค่ความ “ยุติธรรม” ของคะแนนแต่กลับล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญอื่นๆ เราไม่อาจเรียกระบบเลือกตั้งนั้นว่าระบบเลือกตั้งที่ดี และอันที่จริงระบบแบบ MMA ของมีชัยก็ไม่ได้ยุติธรรมอย่างแท้จริงเพราะคะแนนของผู้เลือกตั้งที่ชนะในระบบเขตไม่ถูกนำไปคำนวณในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ถูกนับครั้งเดียว เกิดความพร่าเลือนระหว่างการเลือกตัวแทนในเขตพื้นที่กับการเลือกตัวแทนระดับชาติ จนทำให้ประเทศที่เคยทดลองใช้ก็เลิกใช้ไปแล้ว

13

จริงๆ ระบบที่มีความยุติธรรมกว่าในการทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายอย่างแท้จริงและไม่สร้างความสับสนคือ ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่มีผู้แทนแบบปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น (ไม่มี ส.ส.เขต) ซึ่งเป็นที่นิยมไม่น้อยและใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ประชาชนมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกพรรคที่ชอบ พรรคใดได้คะแนนกี่เปอร์เซนต์ ก็ได้จำนวนผู้แทนในสภาไปตามนั้น ระบบนี้ยุติธรรมและไม่สับสนเพราะประชาชนเลือกพรรค และพรรคก็ได้ที่นั่งไปตามสัดส่วนความนิยมของประชาชน มิใช่แบบระบบ MMA ของกรรมการร่างชุดมีชัยที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนเขต แต่คะแนนเขตกลับเป็นตัวชี้ขาดการจัดสรรที่นั่งรวมทั้งหมดของแต่ละพรรคในสภา

14

สรุปว่าระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เสนอโดย กรธ.ของนายมีชัย เป็นระบบที่มีปัญหาข้อบกพร่องมากมาย แทบไม่มีประเทศใดในโลกใช้แล้ว จะทำให้การซื้อเสียงเพิ่มขึ้น การแข่งขันดุเดือดรุนแรงขึ้น ระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นกลับมา ผู้แทนที่ด้อยคุณภาพมีโอกาสเข้าสู่สภามากขึ้น พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ การต่อรองผลประโยชน์และตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกลับมาคึกคัก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ และรัฐสภาโดยรวมก็อ่อนแอ

15

ผู้เขียนจึงขอเสนอว่าสังคมไทยไม่ควรนำระบบเลือกตั้งดังกล่าวมาใช้เนื่องจากจะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ข้อเสนอคือ ให้นำระบบเลือกตั้งที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และในร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์กลับมาพิจารณา เพราะทั้ง 3 ระบบมีจุดแข็งและข้อดีมากกว่าฉบับของนายมีชัยหลายประการ โดยควรต้องจัดให้มีการประชุมระดมความเห็นในที่สาธารณะอย่างเปิดกว้างและเสรีจากประชาชน สื่อ นักวิชาการ กกต. พรรคการเมืองต่างๆ และกลุ่มองค์กรในภาคประชาสังคมเพื่อนำมาซึ่งข้อสรุปว่าระบบเลือกตั้งใดจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุด เพราะสุดท้ายระบบเลือกตั้งควรมาจากการมีส่วนร่วมและความเห็นชอบของประชาชนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง แทนที่จะมาจากการตัดสินใจและพิจารณาแบบปิดลับเฉพาะในกลุ่มกรรมการร่าง 21 คนดังที่ผ่านมา

.......................................

(1) ขอบคุณ Prof. Allen Hicken จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้กับผู้เขียนสำหรับการเขียนบทความนี้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่ปรากฎในบทคามนี้เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

(2)  Timothy S. Rich, “Evaluating South Korea’s Mixed Legislative System: A Cross-National Analysis of District Competition” KOREA OBSERVER, Vol. 44, No. 3, Autumn 2013, pp. 365-387.

(3) Allen Hicken and Bangkok Pundit, “The Effects of Thailand’s Proposed Electoral System,” 10 February 2016 http://www.thaidatapoints.com/project-updates/theeffectsofthailandsproposedelectoralsystembyallenhickenandbangkokpundit

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง