วันนี้ (16 ก.พ.) นายวรวิทย์ รวีนิภาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 5 หรือ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเขื่อนทั้งหมดกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำที่มีอยู่นี้จะใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 11 เม.ย.นี้ ถ้าไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มซึ่งจะระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับอำเภอเมืองขอนแก่น น้ำพอง และอุบลรัตน์เท่านั้น จึงอาจจำเป็นต้องใช้น้ำก้นเขื่อน หรือ dead storage มาเพื่อการอุปโภคบริโภคจนกว่าฝนจะตกต่อไป
ส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทานตัดสินใจปรับแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งนี้ใหม่จากเดิมที่จะระบายน้ำจากเขื่อน 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558-เม.ย.2559 มาเป็น 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยพืชทนแล้งและพืชสวนกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขณะนี้น้ำสำรองในช่วงฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. จะมีเพียง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือใช้ได้ถึงเดือน ก.ค.นี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามแม้น้ำในเขื่อนปีนี้จะมากกว่าวิกฤตภัยแล้งในปี 2537 แต่ความต้องการน้ำในปีนี้มีมากกว่า เช่น เขื่อนภูมิพลในปี 2537 จะระบายน้ำขั้นต่ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปี 2559 ต้องระบายที่ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2537 ต้องระบายวันละ 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปี 2559 ต้องระบายมากถึง 8 -10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำของการประปานครหลวง ในปี 2537 ต้องใช้น้ำวันละกว่า 2 ล้านลูกบาศก์ แต่ในปี 2559 ต้องใช้น้ำประปามากถึง 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน