กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยและองค์กรระหว่างประเทศ เพราะเป็นหนทางเดียวที่เป็นที่ยอมรับในทางสากล เพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งเกิดขึ้นมากว่า 12 ปีแล้ว และแม้ว่าฝ่ายรัฐจะได้ดำเนินการในทุกมาตรการเพื่อควบคุมเหตุการณ์มิให้เกิดความรุนแรง เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ โดยส่งผลทำให้สถิติเหตุความรุนแรงลดลงก็ตาม แต่การที่จะให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ จชต. อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องใช้กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ให้ลดความตั้งใจในการก่อเหตุ และหันมาร่วมมือกับภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงและกำหนด Road Map ในการพัฒนาพื้นที่ จชต. ร่วมกันต่อไป
ตลอดห้วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพูดคุยในปี 2558 คณะพูดคุยฯ ได้ใช้ความพยายามร่วมกับผู้อำนวยความสะดวก ดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม ทุกพวก ทุกฝ่าย ออกมาจากมุมมืด เพื่อให้สังคมได้เห็นว่ามีกี่กลุ่ม กี่พวก และมีใครบ้าง ทั้งนี้เมื่อเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จชต. จะได้ถามหาความรับผิดชอบจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ เหล่านี้ แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชนบางสำนักกลับไม่ให้ความสนใจกระบวนการพูดคุย ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐ ที่ทั่วโลกยอมรับ แม้แต่ OIC (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ก็ยังให้การสนับสนุน แต่สื่อมวลชนกลับไปให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่มากกว่าการที่ต้องไปคุยกับกลุ่มใดๆ โดยลืมไปว่ารัฐได้ทำเช่นนี้ฝ่ายเดียวมาตลอด 11 ปี แล้วยังไม่สำเร็จ นอกจากนี้สื่อมวลชนบางสำนักและนักวิเคราะห์บางท่านยังไปยกระดับและให้ความสำคัญกับกลุ่มพูโล (องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี) ที่ไม่มีกองกำลังในพื้นที่แล้ว โดยพยายามประโคมข่าววัตถุระเบิดที่มีรูปร่างคล้ายจรวด และจงใจให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบในพื้นที่ จ.ปัตตานี และต่อมาจัดฉากให้พบอีกที่ จ.นราธิวาส โดยอ้างว่าเป็นแบบเดียวกับที่ใช้กันอยู่ในตะวันออกกลาง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบแล้วไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เป็นเพียงวัตถุต้องสงสัยที่ทำขึ้นและไม่สามารถใช้งานได้จริง ดังนั้นจึงสมควรให้ทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่และร่วมมือกันปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อกดดันให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ที่ยังนิยมใช้ความรุนแรงไม่มีที่ยืนในสังคมต่อไป จึงจะสามารถทำให้เหตุความรุนแรงลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขอให้ทุกฝ่ายได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ไม่ใช่เพื่อคณะพูดคุยฯ แต่เพื่อความสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต. โดยรวม
ผมขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายได้หันมาช่วยสนับสนุนกระบวนการพูดคุยอย่างจริงจังเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยขอให้นำเสนอข้อเท็จจริงและช่วยกันโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง ตอบโต้ซึ่งกัน และช่วยกันประณามผู้สั่งการหรือผู้ก่อเหตุ ซึ่งเกิดจากคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ยังมีความคิดสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรงและปัจจุบันเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนา ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ แต่อย่างใด เพียงแต่คิดเอาชนะเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันทำให้เสียงของประชาชนในพื้นที่ดังไปถึงพวกที่ยังอ้างว่าทำเพื่อประชาชน ได้ทราบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนว่าไม่ต้องการความรุนแรง ที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินใดๆ แต่ต้องการความสงบสุขกลับคืนมาในพื้นที่ จชต. และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป เสียงของประชาชนเท่านั้นที่จะทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม ทุกพวก ทุกฝ่าย หันหน้าเข้ามาพูดคุยและสร้างความร่วมมือกัน เพื่อวางอนาคตโดยกาหนด Road Map ร่วมกันต่อไป โดยมีภาคประชาชนเป็นผู้กำหนดทิศทาง
ปัจจุบันแม่ทัพภาค 4, เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผู้นำศาสนา, นักวิชาการ และภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจกับสังคมและกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนดีอยู่แล้ว และจะดำเนินการต่อไปให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง คณะพูดคุยฯ และผู้อำนวยความสะดวกเพียงมาช่วยทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ทุกกลุ่ม ทุกพวก ทุกฝ่าย ได้เข้ามาร่วมมือสร้างสันติสุขด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
ในนามของรัฐบาล ผมขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันทุกฝ่าย โดยจะเห็นได้ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้ความรุนแรงจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทุกฝ่าย และจะไม่เกิดผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น จากเหตุการณ์ความสูญเสียในอดีตที่ผ่านมา ในกรณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่กรือเซะหรือตากใบก็ตาม รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากลงไปเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แทนที่จะใช้งบประมาณนั้นมาพัฒนาพื้นที่ จชต. เพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป และเราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์เหล่านั้นย้อนกลับมาอีก โดยต้องพยายามโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหันมาให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ จชต. ตามแนวทางที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ
สรุปสุดท้ายคือขอให้ทุกฝ่ายได้สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ไม่ใช่เพื่อคณะพูดคุยฯ แต่เพื่อความสงบสุขปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต. โดยรวมนั่นเอง