คดีนี้เริ่มต้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วเมื่อนายสรยุทธกับพวก ก่อตั้งบริษัทไร่ส้มขึ้นเมื่อมาเมื่อปี 2547 จากนั้น บริษัทไร่ส้ม ทำสัญญากับ ช่อง 9 อสมท. เพื่อร่วมผลิตรายการ "คุย คุ้ย ข่าว" ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท.ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 21.30 - 22.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 12.00 - 13.00 น. โดยมีการจำกัดเวลาที่บริษัทไร่ส้มสามารถขายโฆษณาได้เอง หากโฆษณานานเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา บริษัทไร่ส้มต้องจ่ายค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท. ดังนี้
- รายการวันจันทร์-ศุกร์ บริษัทไร่ส้มสามารถขายโฆษณาได้เองไม่เกินวันละ 2 นาที 30 วินาที ถ้าเกินกว่านั้น บริษัทไร่ส้มจะต้องจ่ายค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท. นาทีละ 240,000 บาท
- รายการวันเสาร์-อาทิตย์ บริษัทไร่ส้มขายโฆษณาเองได้ไม่เกินวันละ 5 นาที ถ้าเกินกว่าานั้น ต้องจ่ายค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท. นาทีละ 200,000 บาท
หลังจากรายการดำเนินไปประมาณ 1 ปีภายใต้สัญญานี้ ความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อ อสมท.พบว่า รายการข่าวดึกของ ช่อง 9 อสมท. จันทร์ - ศุกร์ เข้าช้าไม่ตรงเวลาหลายครั้ง จึงเกิดการตรวจสอบย้อนหลัง คณะกรรมการตรวจสอบของ อสมท. จึงพบว่า นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่ อสมท.มีหน้าที่ต้องลงบันทึกข้อมูลการโฆษณา ไม่การรายงานเวลาที่บริษัทโฆษณาเกินจากที่กำหนดในสัญญา ภายหลังเธอยอมรับในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ได้ใช้น้ำยาลบคำผิดแก้เวลาโฆษณาของบริษัทไร่ส้ม หรือช่วยปกปิดไม่ให้บริษัทไร่ส้มต้องจ่ายเงินค่าเวลาโฆษณาที่เกินมาให้ อสมท. โดยเธออ้างว่าเป็นคำแนะนำของนายสรยุทธ ขณะเดียวกันมีหลักฐานว่านางพิชชาภารับเช็คธนาคารธนชาติที่ลงลายมือชื่อของนายสรยุทธ 6 ครั้ง รวมเงินกว่า 700,000 บาท
หลังจากการสอบสวนของ ป.ป.ช. อัยการได้ยื่นฟ้องนายสรยุทธฐานสนับสนุนให้พนักงานของรัฐทำความผิด แม้ช่วงที่พบความผิดปกติ บริษัทไร่ส้มจะได้จ่ายชดเชยให้ อสมท.ทั้งค่าโฆษณาเกินและดอกเบี้ย กว่า 150 ล้านบาทไปแล้ว แต่คดีอาญาต้องเนินการต่อ จนถึงวันนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกนายสรยุทธ 13 ปี 4 เดือน
คำพิพากษาในวันนี้มีขึ้นในขณะที่นายสรยุทธกำลังเป็นพิธีกรเล่าข่าวชื่อดัง รายการของเขาที่ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 ทั้ง "เรื่องเล่าเช้านี้" "เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์" และ "เจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ" ล้วนแต่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มรายการข่าว การตัดสินจำคุกพิธีกรข่าวชื่อดังในคดีทุจริตจึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายสรยุทธอย่างมาก โดยในวันนี้ (29 ก.พ.) ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ระงับการออกอากาศรายการ "เจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ สุทัศนะจินดา" ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของรายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้" แม้จะมีการทำเทปรายการไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม
ส่วนทางด้านผู้บริหาร สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ประชุมและเตรียมออกแถลงการ ซึ่งมีรายงานว่า ทางช่อง 3 จะยังให้รายการที่ผลิตโดยบริษัทไร่ส้ม คือ "เรื่องเล่าเช้านี้" และ "เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์" ออกอากาศตามปกติ ส่วนจะเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการจากนายสรยุทธเป็นบุคคลอื่นหรือไม่ ให้บริษัทไร่ส้มตัดสินใจ
สรุปคำพิพากษา
ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และตัดสินลงโทษจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด นางสาวมณฑา ธีรเดช จำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่จำเลยให้การนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน
ศาลพิจารณาในแต่ละประเด็นอย่างละเอียดและศาลชี้แจงว่า ตามสัญญาข้อตกลง บริษัทไร่ส้ม กับ อสมท. ซึ่งร่วมกันผลิตรายการ "คุย คุ้ย ข่าว" มีสิทธิได้ค่าโฆษณาคนละ 50 ต่อ 50 ถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง บริษัทไร่ส้มจะต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน-ให้ อสมท. ประเด็นนี้ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าบริษัทไร่ส้ม ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ประเด็นที่สอง กรณีมีเจ้าหน้าที่จัดคิวโฆษณา บมจ.อสมท ไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา ซึ่งการตรวจสอบนอกจากนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่จัดคิวโฆษณาพบว่าไม่ได้รายงานเวลาโฆษณาส่วนเกินต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังพบว่านางพิชชาภาได้ลบรายการโฆษณาหลายรายการในใบคิวโฆษณาของรายการ "คุย คุ้ย ข่าว" ออก ทำให้บริษัทไร่ส้มไม่ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินรวม 138.79 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่านางพิชชาภาได้รับเงินเป็นเช็ค 6 ฉบับ รวมเป็นเงินกว่า 700,000 บาท สั่งจ่ายโดยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยมีนายสรยุทธ ลงนามสั่งจ่ายในฐานะกรรมการบริษัท
ศาลฟังข้อเท็จจริงแล้วสรุปว่านางพิชชาภามีความผิดตามฟ้องพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ส่วนบริษัทไร่ส้ม นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา ศาลพิเคราะห์ว่า การที่จำเลยทั้ง 3 นำเช็คไปมอบให้นางพิชชาภาเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย และการที่นางพิชชาภาไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชาทำให้บริษัท ไร่ส้ม ได้รับผลประโยชน์ เป็นความผิดฐานสนับสนุน
ศาลจึงพิพากษาว่านางพิชชาภามีความผิดจริงให้ลงโทษจำคุก 30 ปี การนำสืบให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 20 ปี ส่วนบริษัทไร่ส้ม ให้ปรับเป็นเงิน 120,000 บาท แต่ได้มีการคืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ อสมท. ไปแล้ว จึงเป็นเหตุบรรเทาโทษ สั่งปรับ 80,000 บาท
หลังศาลตัดสินจำเลยทั้ง 3 ได้ยื่นประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัว ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้ต้องรายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน และห้ามออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาต