วันนี้ ( 21 มี.ค. 2559 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน (คสข.) ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำริมฝั่งโขงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า เจ้าของร้านค้าริมฝั่งโขงแสดงความกังวล เนื่องจากชาวบ้านแถบนี้มีรายได้จากการขายอาหารเครื่องดื่มในเทศกาลท่องเที่ยวหน้าแล้งช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน เฉลี่ยเดือนละเกือบ 100,000 บาท แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน้ำโขงเปลี่ยนแปลงมากระดับน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลและขาดข้อมูลการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนเพื่อใช้วางแผนประกอบอาชีพ
นอกจากนี้ยังพบว่า ชาว อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ยังกังวลว่าจะไม่สามารถใช้พื้นที่หาดทรายริมโขงเพาะปลูกพืชผักได้เพราะระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนไป ขณะที่มีรายงานว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านใน จ.เลย แสดงความความกังวลกับระดับน้ำที่เพิ่งสูงขึ้นถึง 2 เมตร ว่าจะกระทบกับฤดูกาลหาปลาที่กำลังเริ่มขึ้นเพราะระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นกะทันหันจะทำให้จับปลายาก
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา จ.เชียงราย กล่าวว่า การที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำลงมาในครั้งนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของจีนโดยตรง เพราะเขื่อนได้ปั่นไฟฟ้าและระบายน้ำให้เรือจีนล่องลงมาค้าขายที่เชียงแสน เวลานี้จีนสามารถใช้เขื่อน 6 แห่งควบคุมแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด แต่กลับสร้างความเสียหายที่เกิดกับท้องถิ่นและประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศของประเทศใต้เขื่อนของจีน
นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด เพื่อรับฟังความคิดและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านนการจัดการแม่น้ำโขงเพื่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พร้อมคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่เมืองซานย่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.นี้ โดยมีกรอบความร่วมมือที่จีนพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความร่วมมือที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน