จากกรณี นพ.สมยศ กิตติมั่นคง เขียนหนังสือเรื่อง "กัญชาคือยารักษามะเร็ง" โดยระบุว่าเป็นแนวทางใหม่สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง
วันนี้ (21 เม.ย. 2559) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ในต่างประเทศ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัยระดับพลีคลินิก คือในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมถึงระดับคลินิกคือ ทดลองในคน ซึ่งแม้พบว่าสารสกัดจากกัญชาช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในอวัยวะ เช่น ตับ ปอด เต้านม และสมองในสัตว์ทดลอง แต่ขณะนี้ยังไม่มียาที่สกัดจากกัญชาโดยตรง
นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า ในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ สังเคราะห์สารสกัดจากกัญชามาผลิตเป็นยาลดผลข้างเคียงให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับยาเคมีบำบัด รวมถึงใช้กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยเอดส์
“เป็นโอกาสดี หากประเทศไทยจะศึกษาวิจัยนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกในการลดผลกระทบจากการรักษามะเร็ง ซึ่งขณะนี้ยังติดข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุ
ด้าน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการที่ อย.เสนอแก้กฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 ที่ผู้ครอบครองหรือเสพจะมีโทษตามกฎหมาย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยจะเปิดช่องให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมใช้เพื่อศึกษาวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังศึกษารายละเอียด