วันนี้ (27 เม.ย.2559) ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เห็นชอบแก้ไขกฎหมายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพว่า เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคง ส่งผลให้ไทยสูญเสียค่ารักษาพยาบาลสูงถึงร้อยละ 2.14 ของจีดีพี หรือคิดเป็นเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท นายกสมาคมโรงเบาหวานฯ ยังกล่าวอีกว่า คนไทยบริโภคน้ำตาล 100 กรัมต่อคนต่อวัน ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัมต่อวัน นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีก็จะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย ซึ่งเครื่องดื่มที่วางขายตามตลาดทั่วไปมีน้ำตาลถึง 12 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้แต่ละคนไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา แต่เครือข่ายข้อมูลการเกษตรทั่วโลก สำรวจพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยวันละประมาณ 27 ช้อนชา และร้อยละ 50 ของการใช้น้ำตาลในประเทศถูกใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
รศ.ประไพศรี ศิริจักรวาล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสาเหตุที่คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกำหนดขององค์การอนามัยโลกเกือบ 5 เท่า เป็นเพราะอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีน้ำตาลผสมอยู่ เช่น น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลผสมอยู่ถึง 8 ช้อนชา เกินกำหนดขององค์การอนามัยไป 2 ช้อนชา
ล่าสุด สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีแนวคิดเสนอคณะรัฐมนตรีให้ขึ้นภาษีน้ำอัดลมและน้ำชาเขียว ที่ผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มล.ในอัตราสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของราคาขายปลีก ส่วนที่มีน้ำตาล 10 กรัมขึ้นไป จะสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาขายปลีก ซึ่งแนวคิดนี้สามารถลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น
"หากเป็นมาตรการหลักให้คนลดการบริโภคเหมือนในระยะยาว อันนี้ตอบยาก เพราะว่าเมื่อขึ้นราคาไปได้ระยะหนึ่ง คนอาจจะเริ่มชิน และอาจจะกลับมาบริโภคเหมือนเดิม จึงเห็นว่าควรมีมาตรการอื่นมาช่วยด้วย การให้ความรู้และทำให้คนตระหนักเป็นสิ่งที่ดีที่สุด" ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
สอดคล้องกับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า หากบริโภคน้ำตาลติดต่อกันตั้งแต่เด็กจะส่งผลทำให้เกิดโรคฟันผุ โรคอ้วน นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้มวลกระดูกบาง และสุดท้ายอาจเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
ด้านกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับเรื่องจาก สปท.แต่พร้อมพิจารณาร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อศึกษารายละเอียด วิธีการจัดเก็บและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันความพร้อมในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่ม 111 รายการทันที หากมีนโยบาย ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มบางรายการได้รับยกเว้นการจัดเก็บ เพราะเป็นสินค้าส่งเสริมภาคการเกษตร และเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพ ก่อนหน้านี้ได้หารือกับฝ่ายนโยบาย โดยเห็นว่าควรจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะรายการที่ไม่เคยเก็บ เช่น ชาเขียว ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนจะปรับตัวได้ โดยอาจปรับส่วนผสมเพื่อไม่ให้เสียภาษี ทั้งนี้ถ้าจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ร้อยละ10 ภาครัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี แต่หากเพิ่มเป็นร้อยละ 20 รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,400 ล้านบาทต่อปี