ภายหลังการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล และกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.2559) กลุ่มมารา ปาตานีได้แสดงท่าทีผิดหวังที่ฝ่ายไทยยังไม่ลงนามรับรองร่างกรอบการพูดคุยหรือ "ทีโออาร์" ซึ่งจะปูทางไปสู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการ
ภายหลังการพูดคุย นายอาบู ฮาฟิซ อัล ฮากิม ซึ่งทำงานกับกลุ่มมารา ปาตานี ได้ส่งบันทึกข้อความให้สื่อมวลชนเป็นการสรุปผลการประชุมระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 ซึ่งระบุว่า การพูดคุยในครั้งนี้เป็นการพูดคุยแบบเต็มคณะอย่างไม่เป็นทางการรอบที่ 3 ระหว่าง "ปาร์ตี้ A" ซึ่งมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ และ "ปาร์ตี้ B" ซึ่งมี อุสตาซ มะสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะ การพูดคุยจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม จากมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ใช้เวลาการประชุม 1 ชั่วโมง 15 นาที วาระการประชุมที่สำคัญก็คือ การให้การรับรองร่างทีโออาร์ว่าด้วยกรอบกติกาการพูดคุย และการนำเสนอแนวคิดเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งเป็นข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลไทย
กลุ่มมารา ปาตานีระบุว่า หัวหน้าคณะพูดคุยของฝ่ายไทยบอกกับที่ประชุมว่า ฝ่ายไทยยังไม่พร้อมที่จะลงนามรับรองร่างทีโออาร์
"ถึงแม้ว่าฝ่ายมารา ปาตานีจะรู้สึกผิดหวัง แต่ก็เคารพการตัดสินใจนี้ ส่วนประเด็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีการหยิบยกมาพูดคุยแต่อย่างใด เราไม่แน่ใจว่าปาร์ตี้ A (ฝ่ายไทย) ต้องการทบทวนร่างทีโออาร์ ชะลอกระบวนการพูดคุย หรือร่างทีโออาร์ขึ้นใหม่" กลุ่มมาราปาตานีระบุ "เราได้รับแจ้งว่านายกรัฐมนตรีของไทยยังไม่อนุมัติร่างทีโออาร์ฉบับนี้"
นายฮาฟิซอธิบายว่า ร่างทีโออาร์เกิดจากการหารือและเห็นชอบร่วมกันระหว่างคณะทำงานด้านเทคนิคของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งมีการหารือกันทั้งหมด 3 ครั้ง (ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 - มีนาคม 2559) ร่างทีโออาร์นี้จะปูทางไปสู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการ ซึ่งคณะกรรมการของมารา ปาตานีได้ให้ความเห็นชอบร่างทีโออาร์ฉบับนี้แล้วตั้้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2559
บันทึกข้อความของกลุ่มมารา ปาตานียังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัว พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขาฯ คณะพูดคุยสันติสุขออกจากกระบวนการพูดคุยฯ โดยมองว่าการตัดสินใจไม่รับรองร่างทีโออาร์ของฝ่ายไทยสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับการปลด พล.ท.นักรบ
"พล.ท.นักรบ เป็นตัวขับเคลื่อนของคณะพูดคุยฝ่ายไทย เขาเป็นผู้ที่มีความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการสันติภาพ เขาเป็นหัวหน้าทีมเทคนิคของฝ่ายปาร์ตี้ A และก่อนหน้าที่จะถูกปลด พล.ท.นักรบ ยังมองในแง่ดีว่าปาร์ตี้ A จะให้การรับรองทีโออาร์ เรารู้สึกได้ว่ากระบวนการพูดคุยขาด พล.ท.นักรบไป ซึ่งจะส่งผลอย่างสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ"
"มารา ปาตานีเห็นว่า ตราบใดที่กระบวนการพูดคุยยังไม่ถูกทำให้เป็นทางการ (ผ่านการรับรองร่างทีโออาร์) ประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การประกาศพื้นที่ปลอดภัยและเรื่องสำคัญอื่นๆ ก็จะไม่ถูกหยิบยกมาหารือร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ"
"ทีโออาร์เป็นชุดของกฎหรือข้อบังคับของเกมกีฬา ถ้าไม่มีสิ่งนี้ผู้เล่นก็ไม่สามารถเล่นได้ ไม่ว่า (ฝ่ายไทย) จะไม่รับรองทีโออาร์ด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราจะให้โอกาสอย่างเต็มที่ในการทบทวนและเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจนี้ เราเฝ้ารอให้ปาร์ตี้ A รับรองทีโออาร์เพราะมันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นในช่วงเวลาของการสร้าความมั่นใจในกระบวนการพูดคุยเพื่อให้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไปได้"
นักวิชาการชี้้ จับตาท่าทีนายกฯ ต่อทีโออาร์พูดคุยสันติสุข
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งทำงานสนับสนุนข้อมูลให้กับคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่าต่อจากนี้ไปต้องจับตาดูท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าจะให้ความเห็นชอบร่างทีโออาร์นี้หรือไม่ ซึ่งมีรายงานว่าคณะกรรมการฯ จะประชุมกันในเดือนพฤษภาคม 2559
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเข้าใจว่าการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการรอบที่ 3 เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.2559) จะมีการรับรองร่างทีโออาร์ซึ่งคณะทำงานด้านเทคนิคของทั้ง 2 ฝ่ายให้ความเห็นชอบร่วมกันมาแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าคณะพูดคุยฝ่ายไทยแจ้งกับมารา ปาตานีว่า ร่างทีโออาร์นี้ต้องผ่านความเห็นชอบของนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยฯ ก่อน
"หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่าฝ่ายไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อร่างทีโออาร์ฉบับนี้ ซึ่งทางฝ่ายมาราปาตานีก็ไม่แน่ใจว่านายกฯ จะเห็นชอบหรือไม่ หรือถ้าเห็นชอบจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากที่ตกลงกันไว้เดิมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง ทางมารา ปาตานีก็อาจจะไม่เห็นชอบ ซึ่งก็คงจะต้องกลับไปพูดคุยกันใหม่" ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวและยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้เห็นได้ว่าการพูดคุยสันติสุขนั้นเดินหน้าไปได้ไม่ง่ายนัก แต่หากรัฐบาลยืนยันเช่นเดิมว่านโยบายการพูดคุยสันติสุขจะไม่เปลี่ยนแปลง ก็มีความเป็นไปได้ว่าร่างทีโออาร์กรอบการพูดคุยจะได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ
ส่วนการเปลี่ยนตัว พล.ท.นักรบ ออกจากกระบวนการพูดคุยนั้น ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มองว่า ส่งผลกระทบต่อการพูดคุยอย่างแน่นอนเพราะ พล.ท.นักรบเป็นผู้ที่ทำงานมาตั้งแต่ต้นและมีความรู้ความใกล้ชิดกับกระบวนการพูดคุย แต่หากรัฐบาลยังยืนยันว่าแนวทางการพูดคุยยังคงเดิมก็เชื่อว่ากระบวนการนี้จะเดินหน้าต่อไปได้
น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระที่ติดตามกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดฝ่ายไทยจึงยังไม่รับรองร่างทีโออาร์ ทั้งที่ร่างทีโออาร์ฉบับนี้เกิดจากการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างคณะทำงานด้านเทคนิคของฝ่ายไทยและมารา ปาตานี มาตลอดระยะเวลาหลายเดือน และมองว่าการตัดสินใจไม่ลงนามรับรองร่างทีโออาร์ทำให้อนาคตของกระบวนการพูดคุยค่อนข้างมืดมน
"ท่าทีล่าสุดของทางการไทยทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาล คสช.มีความจริงจังแค่ไหนในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุย ท่ามกลางเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายไหนที่จะดีเท่ากับการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง การพูดคุยสันติสุขเป็นกลไกที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว" น.ส.รุ่งรวีกล่าว
กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน