ช่วงปิดเทอมใหญ่ มยุรา จงศักดิ์สวัสดิ์ ชาว จ.กาญจนบุรี ต้องเช่าหอพักอยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อพาลูกสาวมาเรียนกวดวิชาย่านพญาไทเป็นประจำ ตั้งแต่ลูกเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะนี้ลูกสาวเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งอยู่ในช่วงเตรียมสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย จึงต้องเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมตลอดทั้งสัปดาห์ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 19.00 น.
โดยมีค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ค่าเดินทางและค่าสมัครเรียนกวดวิชา รวมกว่า 100,000 บาท เป็นเงินที่ครอบครัวนี้ต้องจ่ายเพื่อให้ความฝันของลูกสาวที่ต้องการเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นจริง
ไม่ต่างจากครอบครัวของพรรณพนัธ จวนทองรักษ์ ที่ลูกสาวเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเรียนกวดวิชาทุกวันเพื่อสอบเข้าในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้สำรวจตัวอย่างครอบครัวที่มีลูกเรียนอยู่ชั้มมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่าในช่วงปิดเทอมนักเรียนชั้น ม.4 - ม.6 ต้องเรียนกวดวิชาสูงสุดถึง 7 วิชา ครอบครัวมีค่าใช้จ่ายสูงสุดถึงเกือบ 10,000 บาท
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการ สสค. มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนสมัยนี้ เป็นเพราะระบบการสอบแข่งขันของประเทศไทยที่จัดให้มีการสอบจำนวนมากและหลายวิชาเกินไป
"ข้อมูลที่ยืนยันคือเด็กเรียนหนัก ไม่ได้พักผ่อน และมีข้อคำถามว่าสอบไปทำไมมากมายมหาศาล แล้วเราบอกให้เด็กทำกิจกรรมมากขึ้น จริงหรือเปล่า" ศ.สมพงษ์ กล่าว
ผลสำรวจในครั้งนี้ยังเสนอให้ลดจำนวนการสอบแข่งขันลงและหลักสูตรที่เรียนในโรงเรียนไม่ตรงกับการสอบ ควรเพิ่มเวลาให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจและมีเวลาไปค้นหาตัวเอง ปรับหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพครูในโรงเรียน ขณะเดียวกันรัฐควบคุมค่าสมัครสอบโดยกำหนดเป็นมาตรฐาน ลดจำนวนสนามสอบเข้าอุดมศึกษาลง เพราะทำให้เด็กเหนื่อย และฝึกให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าเน้นให้เด็กต้องสอบแข่งขัน