วันนี้ (3 พ.ค.2559) นายปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ศ.เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงสถานการณ์การตัดไม้ในพื้นที่ป่าบูโดว่า นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่โครงการฯ เริ่มสำรวจนกเงือกในพื้นที่
นายปรีดา ให้ข้อมูลว่า อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีเนื้อที่ป่าดิบฝนประมาณ 2 แสนไร่ ทีมวิจัยพบว่า เฉพาะในส่วนของเทือกเขาบูโด ติดกับ อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง นับตั้งแต่ปี 2557 มีการลักลอบตัดไม้รุนแรงมาก
"ที่ผ่านมาในพื้นที่มีการลักลอบตัดไม้แต่ไม่เยอะ แต่พักหลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ทำงานร่วมกับโครงการฯ บอกว่าได้ยินเสียงตัดไม้เกือบทุกวัน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ต้นไม้ที่ใช้ทำรังของนกเงือกหายไป แต่เสียงเลื่อย และเสียงคนที่เข้าไปรบกวน ส่งผลให้นกเงือกในเทือกเขาบูโดจับคู่เข้าโพรงรังลดลงเกือบร้อยละ 50 หรือบางคู่ทิ้งโพรงรังไปเลยก็มี นอกจากนี้ เริ่มมีการขโมยลูกนกเงือกนำไปขายโดยกลุ่มคนที่เข้ามาลักลอบตัดไม้" หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) ระบุ
นายปรีดา เทียนส่งรัศมี นักวิจัยนกเงือก
นายปรีดา อธิบายต่ออีกว่า ในเขตเทือกเขาบูโดมีโพรงรังพร้อมให้นกเงือกเข้าทำรังบนต้นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ประมาณ 200 รังต่อปี ซึ่งแต่ละปีมีนกเงือกจับคู่เข้าโพรงรังและได้ลูกนกประมาณปีละ 40-50 ตัว ทว่า ทุกวันนี้มีนกเงือกเข้าโพรงรังในฤดูจับคู่เพียง 20-25 รัง เท่ากับว่าประชากรนกเงือกที่เพิ่มขึ้นต่อปีลดลงกว่าครึ่ง แต่ยังไม่ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทางโครงการฯ เข้าไปดูแลให้นกเงือก 6 สายพันธุ์ เช่น นกเงือกปากดำ บริเวณเทือกเขาบูโดขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ จนได้ประชากรนกเงือกเพิ่มเป็น 1,000 กว่าตัว
"อยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาลลงมาดูแล เพราะการทำงานร่วมกับชาวบ้านในการให้ช่วยสอดส่องดูแล ไม่ได้ยากหรือลำบากอย่างที่คิด" นายปรีดา กล่าว
ขณะที่ นายกมล ปล้องใหม่ ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ให้สัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างนกเงือกกับป่าไว้ว่า นกเงือกใช้ป่าเป็นแหล่งพักพิง หาอาหาร ขยายพันธุ์ ขณะเดียวกันนกเงือกก็ทำหน้าที่สร้างป่าให้สมบูรณ์ ลักษณะพิเศษของจะงอยปากที่ใหญ่และแข็งแรง ทำให้นกเงือกสามารถกินเมล็ดพันธุ์พืชที่มีขนาดใหญ่กว่า 2x3-2x5 เซนติเมตรได้ เช่น ต้นมาง ต้นตาเสือใหญ่ และต้นค้อ ขณะที่นกขนาดเล็กทำไม่ได้
"หากคิดเป็นอัตราส่วน นก 1 ตัว กินเมล็ดพันธุ์ 100 เมล็ดต่อวัน และเมล็ดพืชจะงอกเป็นต้นไม้ได้แค่ร้อยละ 5 ขณะที่นกเงือก 1 ตัวมีอายุเฉลี่ยราว 25 ปี สามารถเพิ่มต้นไม้ใหญ่ในป่าได้ถึง 45,625 ต้นต่อปี และหากคิดบนพื้นฐานของป่าสมบูรณ์ที่ต้องมีนกเงือกไม่ต่ำกว่า 500 ตัว ในการสืบเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะพบว่านกเงือกหนึ่งชนิดทำหน้าที่เพิ่มต้นไม้ให้แก่ป่าได้ถึง 22,812,500 ต้นต่อปี ลองคิดดูว่าหากนกเงือก 1 ชีวิต หายไปจากป่าต้นไม้จะหายไปกี่ต้น แล้วใครจะสานต่อภาระกิจคืนความสมบูรณ์สู่ผืนป่านี้" นายกมล กล่าว
ในวันเดียวกัน (3 พ.ค.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แถลงข่าวจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า โดยมีหน่วยเฉพาะกิจ "พญาเสือ" ขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ ซึ่ง นายธัญญา ระบุว่า อาจมอบหมายให้หน่วยพญาเสือดูแลพื้นที่ป่าบูโดด้วย
"สำหรับปัญหาลักลอบตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติบูโดฯ นอกจากประสานกับแม่ทัพภาค 4 ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองแล้ว อาจให้หน่วยพญาเสือเข้าร่วมสะสางด้วย" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายธัญญา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งลงสำรวจพื้นที่จนถึงช่วงบ่ายวันที่ 30 เม.ย. 2559 พบต้นตะเคียนชันตาแมวซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งถูกตัดโค่นทั้งหมด 7 ต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 160-200 เซนติเมตร แต่การแปรรูปไม้และวางไว้กระจัดกระจายทั่วป่า ทำให้การนำเสนอข่าวเข้าใจผิดว่ามีไม้ในอุทยานถูกตัดจำนวนมาก และมีข้อมูลว่า การลักลอบตัดไม้ครั้งนี้เพื่อนำเงินจากการขายไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สิรินภา อิ่มศิริ
ผู้สื่อข่าวไทยบีพีเอสออนไลน์ รายงาน
ติดตามข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ตัดไม้เขาบูโดกระทบนกเงือก
- ลักลอบตัดไม้เขตอุทยานแห่งชาติบูโด
- พญาเสือ
- อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
- นราธิวาส
- ปรีดา เทียนส่งรัศมี
- นักอนุรักษ์นกเงือก
- ธัญญา เนติธรรมกุล
- อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ
- โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก
- คณะวิทยาศาสตร์
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศ.เกียรติคุณพิไล พูลสวัสดิ์
- ลักลอบตัดไม้
- ThaiPBSnews
- ThaiPBS
- ไทยพีบีเอส
- สิรินภา อิ่มศิริ