ในโอกาสครบรอบ 24 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535 "เว็บไซต์ไทยพีบีเอส" สัมภาษณ์นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ 2 คน คือ นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า และ ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงบทเรียนจากการรัฐประหารที่นำมาสู่เหตุการณ์พฤษภา 2535 กับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งยืนยันมาโดยตลอดว่า คสช.ไม่มีเจตนาสืบทอดอำนาจ แต่ร่างรัฐธธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่การทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559 ก็ทำให้หลายคนยังมีข้อกังขา
สติธร: "คนที่อยู่ในอำนาจ อย่าคิดว่าทุกอย่างจัดการได้"
นายสติธร มองว่า สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างเหตุการณ์พฤษภา 2535 กับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ มี 2 ส่วน คือ ในส่วนของประชาชน และ ส่วนของผู้ที่อยู่ในอำนาจ กล่าวคือ ในปี 2535 ประชาชนไม่ได้มีความขัดแย้งทางความคิดกันเหมือนในปัจจุบันนี้ การรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของผู้ที่อยู่ในอำนาจ ทหารมีการปรับตัวอย่างฉลาดมากขึ้นด้วยการอาศัยกลไกแบบประชาธิปไตยในการอยู่ในอำนาจ
"เห็นได้ว่ารัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ทหารจะพยายามรักษากลไกเสมือนว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้เกือบครบ ทั้งการแบ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและคงฝ่ายตุลากาลไว้ ยังคงเก็บสถาบันและองค์กรอิสระต่างๆ เอาไว้ และถ้าไม่จำเป็นก็จะใช้กลไกเหล่านี้จัดการปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมและให้ดูว่าเป็นไปตามหลักการที่อ้างว่าเป็นหลักนิติธรรม เราจะเห็นว่าทหารเองก็ฉลาดที่จะปรับตัวและอาศัยกลไกแบบประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการอยู่ในอำนาจ"
เมื่อพูดถึงการสืบทอดอำนาจ ดร.สติธร กล่าวว่า ถ้า คสช.จะสืบทอดอำนาจจริง ก็จะเห็นว่าไม่ได้ทำแบบตรงๆ เหมือนในสมัย พล.อ.สุจินดา ที่เขียนนตรงๆ เลยว่านายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่ในรอบนี้เขียนเรื่องที่มาของนายกฯ ว่าไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งไว้ด้วยการวางระบบเลือกตั้งและระบบการเสนอชื่อนายกฯ รวมถึงการมีบทเฉพาะกาลว่าให้มี สว.แต่งตั้งไปก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยอ้างเรื่องการปฏิรูป การสานต่องาน และสถานการณ์ที่ยังไม่ปรองดองกัน และยังมีการตั้งคำถามพ่วงในการทำประชามติว่าให้ สว.สามารถไปโหวตเลือกนายกฯ ได้
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า
"จะเห็นว่าวิธีสืบทอดอำนาจของเขาผ่านการคิดให้มันซับซ้อนมากขึ้นและพยายามยึดโยงอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะไม่เขียนเพื่อสืบทอดอำนาจแบบธรรมดาๆ หรือจงใจสืบทอดอำนาจ ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและประกาศใช้ กลไกพวกนี้จะถูกทำงานเสมือนกับว่าเป็นความจำเป็นของสถานการณ์ หรือเหตุการณ์มันนำมาสู่จุดนี้เองโดยที่ไม่ได้เป็นความตั้งใจของทหาร"
สำหรับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลในยุคนี้ เหมือนกับยุคพฤษภา 2535 นั้น ดร.สติธร มองว่า มีความเป็นไปได้ถ้าหากประชาชนมีประเด็นร่วมกัน แต่ก็จะต้องได้รับแรงหนุนจากฝ่ายพรรคการเมืองด้วย
"ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าใครๆ ก็ไม่ปฏิเสธ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ แม้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะบอกว่าอะไรที่ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพถือว่ามีหมด แต่เขาได้เพิ่มสิ่งที่เป็นข้อยกเว้นเข้ามา มันมี 2-3 เรื่องที่ตีความแล้วกว้างมาก เช่น ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยของสังคม พวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเกิดคำถามว่าสิทธิเสรีภาพหายไปหรือเปล่า เพราะถูกจำกัดด้วยข้อเยกเว้นแบบนี้ ถ้ามวลชนจะรวมกันเพื่อสู้กับการสืบทอดอำนาจก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองที่มาชูประเด็นพวกนี้"
สิ่งที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจควรระวังในขณะนี้ คืออย่ามองว่าตัวเองจัดการปัญหาอะไรได้ทั้งหมด อย่าคิดว่าทุกอย่างสามารถจัดการได้ โดยเฉพาะด้วยการอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย อันนี้มีปัญหามาก เพราะกฎหมายที่ออกมาออกมาโดยคณะนี้ พอมาใช้อำนาจก็เลยถูกมองว่าออกกฎหมายมาเอง บังคับใช้เอง แล้วอ้างว่าคนที่ไม่ทำตามนั้นทำผิดกฎหมาย อันนี้จะเป็นปัญหาและอาจจะขยายต่อไปสู่ประเด็นอื่นๆ คนที่อยู่ในอำนาจอาจจะคิดว่าคุมอยู่ เอาอยู่ คุมสถานการณ์ แต่เราต้องยอมรับว่าความขัดแย้งนี้มันอยู่มานานนับ 10 ปี มันแค่ซ่อนอยู่ พอมีประเด็นที่จุดติดก็พร้อมที่จะปะทุออกมา อันนี้เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องระวัง
"ถ้าประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารในครั้งนี้ ก็คงจะเกิดความสูญเสียใหญ่กว่าพฤษภา 2535 ยกเว้นเสียแต่ว่าเป็นการจับมือกันลุกขึ้นมา เพราะถ้าเป็นแบบนี้ทหารก็จะถอยออกไปแบบต้องยอมจำนน แต่ถ้าเป็นการยันกันด้วยคน 2 ฝ่าย มันจะหนักและสุ่มเสี่ยง" นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ระบุ
ไชยันต์: สืบทอดอำนาจแบบ ปชช.ยกมือเห็นด้วย
ด้าน ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าสถานการณ์การเมืองในขณะนี้จะพัฒนาเป็นเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองอย่างเหตุการณ์พฤษภา 2535 ซึ่งมีปัจจัยบางอย่างที่นำไปสู่การลุกฮือของประชาชน กล่าวคือ การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นไม่มีการทำประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญยังให้อำนาจแบบชี้นิ้วเลือกคนนอกมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ทันที อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุจราล คือการที่ พล.อ.สุจินดา ปฏิเสธว่าจะไม่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่เมื่อพรรคการเมืองขัดแย้งกันและไม่สามารถเลือก ส.ส. ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ และดันให้ พล.อ.สุจินดา ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าว ประชาชนจึงไม่ยอมรับและเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535
ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่การร่างรัฐธรรมนูญมีการบัญญัติเรื่องการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชน อีกทั้งในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่เป็นการบีบรัดให้พรรคการเมืองต้องรีบจัดตั้งรัฐบาล
ศ.ไชยันต์มองว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและคำถามพ่วงไม่ผ่านประชามติ โอกาสเกิดเหตุการณ์แบบพฤษภา 2535 ไม่มีแน่ แต่นั่นหมายความว่าต้องหาคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาลงเอยในแบบร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่ให้อำนาจเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ ได้เลยหรือไม่ หรือแม้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน ก็ใช่ว่าจะเกิดเหตุแบบปี 2535 ขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากการทำประชามติถือเป็นกลไกหยั่งเสียงของประชาชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเปิดให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้
"หาก ส.ส.ไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย บทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 บอกให้รู้ว่าคุณต้องรู้รักษาผลประโยชน์ของตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญต้องยอมลงให้กันและกันบ้าง นึกถึงผลประโยชน์ของตนเองและพรรคให้น้อยลง ถ้าทำได้ ตกลงกันได้ หลังการเลือกตั้งว่าจะให้ใครขึ้นเป็นนายกฯ ทุกอย่างก็จบ"
ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ส่วนกรณีที่กังวลกันว่ารัฐบาลทหารจะสืบทอดอำนาจต่อ จากการที่ประชาชนโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ และเกิดเป็นเหตุทวงคืนประชาธิปไตยจากประชาชนเหมือนเหตุการณ์พฤษภา 2535 ศ.ไชยันต์ กล่าวว่า หาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ ส.ว.ที่มาจากตำแหน่งทางทหารจำนวนหนึ่งและจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีอำนาจในการเลือกคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ในขณะที่ประชาชนมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็แสดงนัยว่ารัฐบาลทหารได้บริหารประเทศต่ออย่างแน่นอน และเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารแบบประชาชนยกมือเห็นด้วย
"ถึงแม้ประชาชนจะมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และแม้ว่าสุดท้ายประเทศไทยจะได้นายกฯ ที่เป็นคนนอกมาบริหารประเทศ ซึ่งอาจเป็นการสืบทอดต่อของรัฐบาลทหาร แต่หากประชาชนถูกควบคุมและถูกกำจัดสิทธิเสรีภาพจนเกินรับได้ พวกเขาก็จะลุกฮือเดินขบวนประท้วงเพื่อทวงความเป็นประชาธิปไตย" ศ.ไชยันต์ กล่าวและว่า
"ดังนั้นทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 หรือเหตุรุนแรงทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ส.ส. นักการเมือง และพรรคการเมืองต้องคำนึงถึงประโยชน์ชาติเป็นหลัก"
กุลธิดา สามะพุทธิ, สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน