จากกรณีขบวนการลักลอบตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ยังบุกรุกเข้าลอบตัดไม้ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แม้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ได้สนธิกำลังกับทหารและฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบปราบปรามคาดว่ามีไม้เนื้อแข็งอายุ 100 ปีขึ้นไป ถูกตัด แปรรูปในป่า และนำออกมาขายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200 ต้น ซึ่งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบไม้ตะเคียนชันตาแมวถูกลอบตัดทั้งหมด 7 ต้น แต่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ อ้างว่าไม่กระทบแหล่งเพาะพันธุ์นกเงือก
วันนี้ (23 พ.ค. 2559) ร.ต.ท.อรุณ กุลกัลยา เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 (ฉก.ตชด.44) เปิดเผยกับ ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า หลังจาก พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 (ทภ.4) มีคำสั่งให้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบูโดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติบูโดฯ ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบและสอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน พบว่าที่เทือกเขาตะเว จ.นราธิวาส และบริเวณใกล้เคียงอีก 3 จุด ใน อ.ระแงะ อ.จะแนะ และ อ.สุคิริน รวมเป็น 4 จุด มีการลักลอบตัดไม้รุนแรงที่สุด
ร.ต.ท.อรุณกล่าวว่า ทีมงานเดินเท้าเข้าสำรวจบริเวณเทือกเขาตะเวจนถึงเมื่อวาน (22 พ.ค.) พบจุดลักลอบตัดไม้ประมาณ 20 จุด แต่ละจุดมีไม้เนื้อแข็งจำพวกตะเคียนชันตาแมวและไม้หลุมพออายุ 100-200 ปีขึ้นไป ถูกตัดโค่นและแปรรูปในพื้นที่แห่งละ 2-10 ต้น ทั้งนี้ ลักษณะการลักลอบตัดเป็นแบบกระจาย แต่ละจุดมีรัศมีประมาณ 4-5 กิโลเมตร จึงทำให้เจ้าหน้าดูไม่ออกว่าพื้นที่นี้มีไม้ถูกลอบตัด อีกทั้งทางเข้าออกยังมีแค่ทางเดียวและเป็นพื้นที่สีแดง ทำให้การเข้าสำรวจและปราบปรามเป็นไปอย่างยากลำบาก
"ราคาไม้ที่แปรรูปแล้วตกตารางนิ้วละ 25 บาท เป็นสิ่งจูงใจชั้นดีให้นายทุนเข้ามาซื้อตัวชาวบ้านในพื้นที่เข้าลักลอบตัดไม้ ซึ่งราคาที่ได้ต่อต้นนั้นนับล้านบาท ฉะนั้น มูลค่าความเสียหายล่าสุดที่พบจุดลักลอบตัดไม้ในครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นเงินหลายล้านบาท"
“ที่น่าสนใจคือจุดที่ถูกลอบตัดไม้เกือบทุกจุด อยู่ใกล้กับฐานที่มั่นของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อกัน และส่วนมากพื้นที่นั้นๆ ยังเป็นป่าต้นน้ำหรือใกล้แหล่งประปาหมู่บ้าน ซึ่งน่าห่วงว่าการลักลอบตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติบูโดฯ ที่มีทั้งชาวบ้านในพื้นที่-นอกพื้นที่ กลุ่มนายทุน นักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการปฏิบัติรู้เห็นเป็นใจ จะไม่ใช่แค่ความสูญเสียทางระบบนิเวศน์ที่ป่าถูกทำลาย แต่ยังกระทบต่อแหล่งเพาะพันธุ์นกเงือก รวมถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นความเสียหายมหาศาลในระยะยาวด้วย” เจ้าหน้าที่หน่วย ฉก.ตชด.44 ชี้แจงเพิ่มเติม
ส่วนแนวทางแก้ไขเบื้องต้น ร.ต.ท.อรุณกล่าวว่า อาศัยข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ ในการสอดส่องดูแลการตัดป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนผู้ต้องสงสัยที่คาดว่า อาจเกี่ยวโยงกับขบวนการตัดไม้ เจ้าหน้าที่ได้นำดีเอ็นเอไปตรวจพิสูจน์กับหลักฐานในพื้นที่ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะทราบผล
“เหตุการณ์ลักลอบตัดไม้ในภาคใต้นับวันรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไม่ใช่เพียงป่าอุทยานแห่งชาติฯ แต่ในส่วนของวนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนป่าสิริกิติ์ ฯลฯ ก็ถูกบุกรุกเช่นกัน แต่ใน จ.นราธิวาส จะเป็นการตัดไม้แปรรูปขาย เช่น ส่งทำเฟอร์นิเจอร์ สร้างบ้าน ขณะที่ใน จ.ยะลา จะเป็นการตัดไม้ถางป่าเพื่อครอบครองพื้นที่ทำการเกษตร
ซึ่งจากการลาดตระเวนจับกลุ่มลักลอบตัดไม้มา 10 ปี จับดำเนินคดีแล้วกว่า 1,000 คดี เฉลี่ยปีละ 100 คดี ขนาดตั้งแต่ 1-300 ไร่ เพียงแต่ข่าวถูกกลบด้วยเหตุความไม่สงบหรือข่าวไฟไหม้ป่าพรุที่เกิดจากการจุดโดยคน อยากให้เจ้าหน้าที่ระดับบนลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเลิกละเว้นการปฏิบัติหรือรับผลประโยชน์ สถานการณ์ลักลอบตัดไม้ในภาคใต้จะดีกว่านี้” หัวหน้าหน่วย ฉก.ตชด.44 กล่าว
สิรินภา อิ่มศิริ
ผู้สื่อข่าวไทยบีพีเอสออนไลน์ รายงาน
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ลักลอบต้ดไม้ป่าภาคใต้
- ลักลอบตัดไม้อุทยานแห่งชาติบูโดฯ
- อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี
- เทือกเขาตะเว
- อรุณ กุลกัลยา
- เฉพาะกิจตำรวจตระเวณชายแดนที่ 44
- ฉก.ตชด.44
- กลุ่มก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
- สวนป่าสิริกิติ์
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- นราธิวาส
- ยะลา
- นักการเมืองท้องถิ่น
- เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติ
- ThaiPBSnews
- ThaiPBS
- ไทยพีบีเอส
- สิรินภา อิ่มศิริ