ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา จุฬาฯ ชี้ ปลาดิบย้อมสีไม่ใช่สารเคมี แต่เป็นโปรตีนจากธรรมชาติ

สังคม
26 พ.ค. 59
07:51
808
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา จุฬาฯ ชี้ ปลาดิบย้อมสีไม่ใช่สารเคมี แต่เป็นโปรตีนจากธรรมชาติ
ผู้เชี่ยวชาญชีววิทยา จุฬาฯ ชี้ สีแดงละลายน้ำจากปลาโอในร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังในห้างสรรพสินค้า คือมายโอโกลบินหรือสารโปรตีนในปลา ไม่ใช่การย้อมสี ตามที่ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กังวล

วันนี้ (26 พ.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.สพ.ญ. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัววานนี้ (25 พ.ค.) ว่า หลังกินอาหารญี่ปุ่นในร้านยอดนิยม ที่มีสาขามากมายทุกศูนย์การค้า โดยสั่งอาหารชุดที่มีปลาดิบเป็นปลาโอ 2 ชิ้น แซลมอน 2 ชิ้นแต่เห็นสีและลักษณะเนื้อปลาโอแล้วไม่กล้ากิน เพราะสีแดงชมพูจัด จึงเก็บมาทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ

“เมื่อนำเนื้อปลาไปแช่น้ำไม่กี่นาทีสีละลายออกมาชัดเจน เนื้อที่แช่เพียง 5 นาทีกลายเป็นสีซีดขาว” คือข้อความที่ รศ.สพ.ญ.นันทริกา ระบุ และตั้งข้อสังเกตุว่า อาจมีการย้อมสีเนื้อปลาดังกล่าว ซึ่งสีที่ใช้ไม่แน่ใจว่าเป็นอันตราย จนเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง หรือทำลายระบบตับไตหรือไม่ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า ในเวลาต่อมาที่หน้าเฟซบุ๊กเดียวกันมีข้อความระบุว่า พญ.วัทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้รับเรื่องไปตรวจสอบ

ขณะที่ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวบนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เชื่อว่าสีแดงที่ละลายออกมา น่าจะเป็นสารโปรตีนธรรมชาติในเนื้อปลาหรือมายโอโกลบิน ไม่ใช่การย้อมสี ซึ่งสารโปรตีนนี้มักสะสมอยู่ในสัตว์ทะเลน้ำลึกอย่างปลาโอและทูน่า ทำให้มีสีแดงจัด และยังเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีสีแดงละลายออกมาเมื่อแช่น้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง