วันนี้ ( 13 มิ.ย.2559) ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า(ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลงานวิจัยพบว่า การถูกชกที่ศีรษะโดยตรง ทำให้สมองถูกสะบัดและหมุนด้วยแรงเหวี่ยงที่รวดเร็วอย่างกระทันหัน ทำให้สมองบาดเจ็บ ทั้งเลือดออกในสมอง ภาวะสมองเสื่อม โดยพบการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างน้อย 20 หมัดตลอดการชก 1 ไฟต์ และหากเริ่มชกตั้งแต่อายุน้อยกว่าและชกเป็นเวลานาน จะยิ่งส่งผลต่อสมองมากขึ้นและส่งผลต่อระดับเชาวน์ปัญญา(ไอคิว)ที่ลดลงตามระยะเวลาการชกมวย ส่วนระยะยาวอาจทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคลมชัก หรือลมบ้าหมูได้
ขณะที่สมาคมแพทย์กุมารแพทย์ทั่วโลก ต่างแสดงจุดยืนยุติการชกมวยเด็กในรูปแบบที่มีการกระทบกระเทือนต่อศีรษะและสมอง และกำหนดอายุการชกมวยในเด็ก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีนักมวยเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย 9,998 คน โดยอายุต่ำสุดอยู่ที่ 2-3 ปี
นักวิชาการเสนอว่า การชกมวยเด็กต้องเป็นเพียงวัฒนธรรมและกีฬา ไม่ใช่อาชีพ ไม่ทารุณกรรม และไม่เป็นการพนัน พร้อมทั้งควรกำหนดเกณฑ์อายุของเด็ก ห้ามชกที่ศีรษะ และกำหนดจำนวนยก ให้ชกได้ไม่เกิน 3 ยก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บทางสมองของเด็ก