วานนี้ (13 มิ.ย.2559) องค์กรและบุคคลทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 80 หน่วยงาน ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้กองทัพบกถอนฟ้อง น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ นายสมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาทและการกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับการรายงานกรณีการซ้อมทรมานและประกันว่าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิ และประกันว่าจะไม่มีการตอบโต้เพิ่มเติมหรืออนุญาตให้มีการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายจากการปฏิบัติที่โหดร้ายและการซ้อมทรมาน ผู้ร่วมงานและครอบครัว โดยเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์ร่วม วันที่ 13 มิถุนายน 2559
แถลงการณ์เกี่ยวกับการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ นายสมชาย หอมลออ
พวกเราซึ่งเป็นหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่าง กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับกรณีที่กองทัพบกได้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง คือ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ซึ่งติดตามและรายงานกรณีการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในไทย และนายสมชายเป็นประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่วนน.ส.อัญชนาเป็นผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ หน่วยงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากระบบยุติธรรม รวมทั้งถูกดำเนินคดีด้านความมั่นคง บุคคลทั้งสามเป็นบรรณาธิการร่วมของรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ปี 2557-2558[1] ซึ่งรวบรวมกรณีการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมระหว่างการควบคุมตัว 54 กรณี มีการเปิดตัวรายงานเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 งานวิจัยและรายงานดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนสหประชาชาติเพื่อเหยื่อจากการซ้อมทรมาน ซึ่งก่อตั้งภายใต้สมัชชาแห่งสหประชาชาติ ที่ 36/151 ใรปี 1981 และเป็นไปตามมติที่ 12/2 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ร่วมงานเหล่านี้ต่างเป็น “บุคคลซึ่งร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ หน่วยงานที่เป็นตัวแทนและกลไกอื่น ๆ ด้านสิทธิมนุษยชน” นอกจากนั้น กลุ่มบุคคลที่จัดทำรายงานนี้ยังพยายามระดมทุนเพื่อตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเหยื่อการซ้อมทรมานอย่างเป็นระบบ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ได้รับแจ้งข้อมูลทางโทรศัพท์จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ว่าทางหน่วยงานได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบกและได้แจ้งความดำเนินคดีที่สภ.เมืองยะลา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากการกระทำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เป็นข้อกล่าวหาหมิ่นประมาททางอาญาตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา และละเมิดมาตรา 14(1) พระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[2] เรากังวลใจอย่างยิ่งกับข้อมูลที่ว่าทางการไทยได้สอบปากคำพยานหกรายแล้ว ตามสำนวนการสอบสวนที่ 704/2559
การดำเนินคดีครั้งนี้เกิดขึ้นแม้ผู้ที่จัดทำรายงานได้ใช้ความพยายามหาทางร่วมมืออย่างที่สุดกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับหลักฐานการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ตามที่นำเสนอในรายงาน กล่าวคือมีการส่งมอบรายงานให้กับพลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารประกาศต่อสื่อ โดยปฏิเสธข้อมูลในรายงาน ทั้งยังตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการเขียนรายงาน นอกจากนั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง น.ส.อัญชนา ยังได้รับคำสั่งเรียกตัวไปที่ค่ายทหาร ถูกสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเวลานาน ทั้งยังถูกคุกคามและติดตามตัวโดยชายในชุดเครื่องแบบแต่ไม่ทราบชื่อ[3]
เราเห็นว่าปฏิบัติการของกองทัพไทยเป็นการตอบโต้กับความพยายามของกลุ่มภาคประชาสังคม ที่พยายามกระตุ้นให้ทางการสนใจปัญหาการใช้อำนาจอย่างมิชอบและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัวในไทย กองทัพได้ดำเนินการเหล่านี้แม้ในช่วงที่รัฐบาลทหารไทยแสดงพันธกิจต่อประชาคมระหว่างประเทศที่จะยกเลิกการทรมาน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UPR) มีการเน้นย้ำถึงปัญหาการซ้อมทรมานและการลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน ในระหว่างการประชุม UPR รัฐภาคีสหประชาชาติ 12 แห่งมีข้อเสนอแนะโดยตรงเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมานและการจัดให้เหยื่อการซ้อมทรมานเข้าถึงความยุติธรรม นอกจากนั้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 รัฐบาลทหารมีมติคณะรัฐมนตรีระบุว่า จะมีการเห็นชอบต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่รัฐบาลทหารชุดเดียวกันกลับสั่งให้ดำเนินคดีทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งดำเนินการสนับสนุนเหยื่อการซ้อมทรมาน รวมทั้งรณรงค์ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านนโยบายและการปฏิบัติของรัฐ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย
เราเห็นว่าปฏิบัติการของกองทัพบกไม่ชอบด้วยเหตุผล กระทำโดยพลการ และเป็นการตอบโต้ที่หนักหน่วงเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องกรณีการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ กองทัพบกเพียงแต่มุ่งยับยั้งความพยายามของน.ส.พรเพ็ญ น.ส.อัญชนาและนายสมชายในการช่วยเหลือให้ผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน ให้สามารถประกาศต่อสาธารณะว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ การกระทำเช่นนั้นยิ่งทำให้ผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานไม่สามารถร้องเรียนปัญหาของตนเองได้ นอกจากนั้น ถือเป็นการกระทำที่น่าเสียใจของกองทัพบก เนื่องจากมุ่งคุกคามต่อผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ไม่กล้ารายงานข้อมูลการละเมิด แทนที่จะปราบปรามการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน.ส.พรเพ็ญ น.ส.อัญชนาและนายสมชาย กองทัพบกควรดำเนินการตามข้อเสนอแนะของตัวแทนประเทศนิวซีแลนด์ระหว่างการประชุม UPR ให้ “ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีโดยทันทีต่อข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานและการวิสามัญฆาตกรรม” และตามข้อเสนอแนะของตัวแทนประเทศแคนาดาที่ว่า “ให้จัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อสอบสวนตามข้อกล่าวหาการซ้อมทรมานทั้งปวง รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ และให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด” ,” และตามข้อเสนอของประเทศคานาดาที่เสนอให้ จัดตั้งสถาบันอิสระเพื่อทำการสอบสวนข้อกล่าวหาการทรมานทุกกรณี รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษทางกระบวนการยุติธรรม
การใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อคุกคามครั้งนี้ถือเป็นการละเมิดโดยตรงต่อสิทธิของ น.ส.พรเพ็ญ น.ส.อัญชนาและนายสมชาย ในการทำงานในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “บุคคลทุกคนมีสิทธิ (ทั้งโดยส่วนตัวและร่วมกับคนอื่น) ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ” เราเชื่อว่าการฟ้องคดีอาญาต่อ น.ส.พรเพ็ญ น.ส.อัญชนาและนายสมชายครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานเพื่อตอบโต้ และเป็นผลมาจากการปฏิบัติโดยสงบและชอบด้วยกฎหมายของ น.ส.พรเพ็ญน.ส.อัญชนาและนายสมชายที่จะกดดันให้ทางการต้องรับผิดชอบต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการซ้อมทรมานในภาคใต้ของไทย
เราเรียกร้องกองทัพบกให้
-ถอนฟ้องคดีต่อ น.ส.พรเพ็ญ น.ส.อัญชนาและนายสมชายโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข การดำเนินคดีต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบด้วยกฎหมายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ ถือว่าขัดแย้งต่อประโยชน์สาธารณะ
-ประกันว่าจะไม่มีการตอบโต้เพิ่มเติมหรืออนุญาตให้มีการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายจากการปฏิบัติที่โหดร้ายและการซ้อมทรมาน ผู้ร่วมงานและครอบครัวของพวกเขาภ
เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้
-เคารพสิทธิ หน้าที่และพันธกรณีซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของบุคคลทุกคนและหน่วยงานที่จะรายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรมต่อสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
-ประกันว่าบุคคลทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอื่นจะได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งได้รับสิทธิในการร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มั่นใจว่าจะยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอจากการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UPR)เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน