วันนี้ (14 มิ.ย. 2559) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ความชื้นสูงในฤดูฝน และแหล่งอับชื้นจากน้ำท่วมขังทั้งในและนอกบ้าน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สปอร์ของเชื้อราที่ลอยอยู่ในสิ่งแวดล้อมเจริญเติบโตได้ดี โดยสีของเชื้อรามีตั้งแต่สีดำ น้ำตาล เขียว แดง เหลือง และขาว สามารถพบได้เป็นกลุ่มๆ ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ฝ้าและผนัง เพดานเฟอร์นิเจอร์ ใต้พรม เครื่องนอน เครื่องปรับอากาศ หากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น หากเข้าตาและจมูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบในที่สุด
“ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้านหรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อราฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ เช่น ฟูก ที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา” รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุ
นพ.ดนัย กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อราได้ใน 3 ขั้นตอน คือ
1.พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด
2.ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
และ 3.ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย