วันนี้ (4 ก.ค.2559) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า การตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติ เพื่อให้เป็นรูปธรรมในการทำงานร่วมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และทหาร ตำรวจ มากขึ้น เพื่อรองรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยการทำงานจะบูรณาการร่วมกัน และเน้นดูแลความมั่นคงภาพรวมทั้งหมด ขณะเดียวกัน ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติไม่เหมือนศูนย์ปราบโกงที่กลุ่ม นปช.จัดตั้งขึ้น เพราะศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติของรัฐบาล เป็นการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยมีภารกิจหลักทั้งด้านการข่าวติดตามสถานการณ์ หากพบการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงทำให้มีเสียงวิจารณ์ตามมาจากผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช.ที่ไม่เชื่อว่าศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติของรัฐบาล จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ประกาศไว้ แต่กลับจะยิ่งทำให้บรรยากาศตึงเครียดมากขึ้น เพราะขณะนี้ กลไกที่ดำเนินการเรื่องการออกเสียงประชามติ มีเฉพาะภาครัฐเท่านั้น จึงไม่มั่นใจว่าหากเกิดปัญหาความไม่โปร่งใสขึ้น ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติ ซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ จะจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงสร้างของศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติจะมีทั้งระดับจังหวัด และอำเภอ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการ ทำงานบูรณาการร่วมกับฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจในการติดตามสถานการณ์จัดทำแผนเผชิญเหตุ ตั้งจุดตรวจสกัด หาข่าวการบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยการทำงานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือก่อนวันออกเสียงประชามติ วันออกเสียงประชามติ และหลังวันออกเสียงประชามติ 3 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงเดือนรอมฎอนว่า ได้คุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว สถิติการเกิดเหตุไม่ได้มากขึ้นหากเทียบสถิติตลอดทั้งปี แต่ในห้วงเดือนรอมฎอนยอมรับว่ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นผลมาจากที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุได้มากขึ้นทั้งไล่จับจากบนเขาลงมาและการปะทะในพื้นที่ เป็นธรรมดาที่ผู้ก่อเหตุจะต้องสร้างสถานการณ์ขึ้น ส่วนการป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาก่อเหตุในเขตเมืองนั้น มีการป้องกันเหตุของเจ้าหน้าที่โดยแบ่งหน้าที่เป็นส่วนเขตเมืองและนอกเมืองอยู่แล้ว
ส่วนกรณีกระแสสังคมเรียกร้องให้แก้กฎหมายอาญาให้ประหารชีวิตคนร้ายที่ก่อเหตุข่มขืนนั้น ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากไทยงดเว้นโทษประหารนานแล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นกับสังคม ส่วนตัวให้ความเห็นไม่ได้ ต้องดูนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการที่กระแสสังคมสนับสนุนให้ขึ้นบัญชีดำนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมถึงเด็กแว๊นซ์ให้เป็นทหารเกณฑ์ทันทีเมื่ออายุครบกำหนดเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองประจำการนั้น ยังเป็นเพียงคิด แต่ในด้านการปฏิบัติจะต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ซึ่งปกติชายไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหาร โดยต้องให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเป็นผู้ศึกษากฎหมายว่าทำได้หรือไม่