ทุกครั้งที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ถูกเปิดใช้งานจะปล่อยคลื่นช่วงแสงสีฟ้า ซึ่งมีพลังงานสูงและตามองเห็นได้ นั่นหมายความว่าหากดวงตาโดนแสงสีฟ้ามากๆ และสะสมเป็นเวลานาน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้เมื่ออายุมากขึ้น สาเหตุจอประสาทตาเสื่อมไม่ได้เกิดจากแสงสีฟ้าเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม อายุ และแสงแดดอีกด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า แสงสีฟ้าทำลายจอประสาทตามนุษย์ มีเพียงแค่ผลการทดลองกับสัตว์เท่านั้น แต่หลายคนก็ที่ใช้ชีวิตผูกติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็อดกังวลไม่ได้ จึงต้องหาแว่นป้องกันแสงสีฟ้าเป็นตัวช่วย แต่แว่นที่ว่านี้ก็ไม่ตอบโจทย์เพื่อป้องกันสุขภาพดวงตาเท่าที่ควร โดยคุณสมบัติหลักที่บรรดาร้านแว่นโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเคลือบ "บลู บล็อก โค้ท" ซึ่งในความเป็นจริงป้องกันแสงสีฟ้าได้เพียงส่วนหนึ่ง ส่วนเนื้อเลนส์ที่ระบุว่าเป็นอะคริลิกเคลือบแข็ง อย่าลืมว่าอะคริลิกก็เป็นพลาสติกอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาทำเป็นเลนส์อาจได้โค้งไม่ปกติทำให้ผู้ใส่เวียนหัวได้ง่าย
ขณะที่คุณสมบัติเลนส์สีเหลืองอ่อน ซึ่งอ้างว่าทำให้สบายตาเวลาจ้องคอมพิวเตอร์ แต่สีเหลืองอาจเป็นสีที่เกิดจากอะคริลิกเสื่อมสภาพหรือการให้สีตามแฟชั่น ซึ่งไม่ได้ช่วยลดปริมาณแสงสีฟ้าที่ผ่านเข้าดวงตา ในทางตรงข้ามกลับทำให้สายตาทำงานหนักมากขึ้น เพราะเลนส์สีเหลืองหลอกตาและสร้างความแตกต่างมากเมื่อผู้ใช้ต้องจ้องกับแสงสีฟ้าในที่มืดนั่นเอง
จากคุณสมบัติที่เหมือนจะช่วยแต่กลับไม่ช่วยป้องกันแสงสีฟ้า นั่นหมายความว่าคนที่สายตาปกติก็ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นนี้ ทั้งหมดมีคำยืนยันจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาและการประกอบแว่น ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า แม้ว่าจะได้แว่นสายตาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ จึงได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่มีรังสีอันตรายและยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าแสงสีฟ้าทำลายจอประสาทตา หลายคนอาจยังคงสงสัยว่าทำไมเมื่อจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วรู้สึกปวดตา ปวดหัว หรือตาแห้ง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่เป็นผลจากการใช้งานสายตาหนักๆ ที่เรียกว่า "คอมพิวเตอร์วิชชั่นซินโดรม" ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการจ้องคอมพิวเตอร์นานไม่ใช่แสงสีฟ้า