วันที่ 9 ก.ค.2559 นายประสิทธิ์ ถิ่นธารา หัวหน้าส่วนจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สำนักนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ อ.อ.ป.ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงการพัฒนาธุรกิจป่าไม้ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลว่า ประเทศไทยยังต้องการพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก ซึ่งเมื่อคำนวณตามหลักวิชาการ ประเทศไทยต้องมีพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจประมาณ 48 ล้านไร่ หรือร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด 320 ล้านไร่
แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนป่าเศรษฐกิจเพียง 5-6 ล้านไร่ โดยเป็นของ อ.อ.ป. 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นป่าสัก 6 แสนไร่ ป่ายูคาลิปตัส ป่าไม้ยางพารา และอื่นๆ อีก 4 แสนไร่ ของเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกช่วงพ.ศ. 2535-2537 อีก 4-5 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีป่าของกรมป่าไม้ที่เตรียมเป็นสวนป่าเศรษฐกิจเพื่อส่งมอบให้ อ.อ.ป.ดูแล แต่พบว่าถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าสวนป่าเศรษฐกิจที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในทุกด้าน
นายประสิทธิ์ระบุว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจจะช่วยลดการลักลอบตัดไม้จากป่าธรรมชาติ และยังเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้อีกด้วย
ทั้งนี้ อ.อ.ป.ได้จัดทำระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าไม้ หรือ ซีโอซี (Chain of Custody : CoC) ตามหลักสากลในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนขององค์กรค้าไม้นานาชาติ เอฟเอสซี (The Forest Stewardship Council : FSC) ตั้งแต่ปี 2557 โดยระบบดังกล่าวสามารถติดตามการเคลื่อนย้ายและตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าไม้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันผลิตภัณฑ์ไม้ถูกกฎหมายของไทยในตลาดสินค้าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ส่งเสริมเรื่องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และพัฒนามาตรฐานธุรกิจป่าไม้ของประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกัน
นายประสิทธิ์กล่าวว่า ระบบซีโอซีถือเป็นกุญแจช่วยปลดล็อคให้กลุ่มธุรกิจที่ต้องการลงทุนในสวนป่าเศรษฐกิจในประเทศ แต่มีข้อกังวลเรื่องการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยเฉพาะในกลุ่มไม้สัก ซึ่งแม้จะเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมายังมีผู้ลงทุนปลูกน้อย เนื่องจากอาจมีปัญหาในการส่งออกหากไม่สามารถยืนยันที่มาของไม้ได้ว่าถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้มาจากการลักลอบตัดไม้ อีกทั้งยังถูกหักภาษีอีกร้อยละ 40 แต่เมื่อสวนป่าสักเข้าสู่ระบบซีโอซีแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป
จากข้อมูลของ อ.อ.ป. ปัจจุบันมีโรงอุตสาหกรรมไม้ของภาครัฐและเอกชน 10 โรงงาน ผ่านมาตรฐานซีโอซี
"สวนป่าเศรษฐกิจทำเงินได้ไม่น้อยต่อปี อย่างไม้แปรรูปที่ อ.อ.ป.ผลิตได้ต่อปีมีปริมาณถึง 6-7 หมื่นคิว แบ่งเป็นมูลค่าจากไม้สัก 500-600 ล้านบาท ไม้ยูคาลิปตัสอีก 70-80 ล้านบาท และไม้อื่น ๆ อีก 10 ล้านบาท จึงอยากให้มีการลงทุนในจุดนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะ อ.อ.ป.เองก็มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอในการช่วยดูแล" หัวหน้าส่วนจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สำนักนวัตกรรมไม้เศรษฐกิจ อ.อ.ป. ระบุ
นายประสิทธิ์กล่าวว่า การมีสวนป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นยังช่วยให้การลักลอบตัดไม้ลดลงด้วย แม้ไม่มีการเก็บสถิติเป็นตัวเลขอย่างชัดเจน แต่มีข้อมูลว่า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ขนาดใหญ่ใน จ.แพร่ และแถบภาคเหนือที่เคยรับซื้อไม้เถื่อนมาแปรรูป ก็หันมารับซื้อไม้ปลูกจาก อ.อ.ป.ทั้งหมดแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม้สักจากสวนป่ามีคุณภาพและลวดลายสวยไม่ต่างจากไม้จากป่าธรรมชาติ