เพราะผูกพันกับเวิ้งนครเกษม ตั้งแต่เป็นนิสิตและนักร้องนำในชมรมดนตรี วง CU BAND ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งใช้ชีวิตเป็นนักร้องอาชีพนานถึง 11 ปี ผ่านทั้งค่ายอินดี้และยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่และอาร์เอส แต่ "มินท์" สวรรยา แก้วมีชัย แทบไม่เชื่อว่าจะมีวันที่ย่านดนตรีเก่าแก่แห่งนี้ต้องปิดตัวลงจริงๆ
"ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะว่าเวิ้งฯ เป็นแหล่งขายเครื่องดนตรีที่มีมานานและทุกคนรู้จัก เสียดายทั้งตึกรามบ้านช่องและแหล่งเก่าแก่ที่ต้องหายไปอีกที่หนึ่ง ถ้าเป็นห้างหรือคอมเพล็กซ์ใหญ่ๆ ก็อาจจะดีกับบางคน แต่ความรู้สึกส่วนตัวมองว่า อย่างกรุงเทพฯที่เป็นเมืองเก่า 200 กว่าปี ควรจะมีสถานที่หลายๆ แห่งที่เก็บไว้บ้างเพื่อให้เห็นความเก่า ความขลังของมัน" นักร้องสาว กล่าว
ร้านค้าจำนวนไม่น้อยย้ายออกไปแล้ว ที่เหลืออยู่อย่างห้างดนตรีระดับตำนาน ย่งเส็ง และธีระมิวสิค รวมถึงผู้ค้าส่วนหนึ่ง ตัดสินใจทำแคมเปญ "ปิดตำนานเวิ้งฯ"ลดราคาสินค้าร้อยละ 30-70 เพราะเครื่องดนตรีหลายชิ้นหากขนย้ายอาจเสียหายได้ รวมถึงนี่ยังเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้พบปะกับลูกค้าเก่าแก่ที่ยังผูกพัน และให้เด็กรุ่นใหม่ซึมซับบรรยากาศของเวิ้งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนพื้นที่แห่งนี้เหลือเพียงตำนาน
กว่า 2 ปี มาแล้วที่ข่าวการมาถึงของเส้นทางรถไฟฟ้าเคยทำให้คนทั้งชุมชนดีใจที่จะได้เดินทางโดยสะดวก และช่วยเรื่องการค้าขายให้ดียิ่งขึ้น หากก็นำกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ หวังพัฒนาพื้นที่ทางการค้า โดยเจรจาย้ายผู้เช่าตึกแถวออกจากพื้นที่ โดนแผนที่ออกมาในปี 2557 ระบุว่าจะทำเป็นวอล์คกิ้งสตรีทในร่มที่เก็บความเป็นเวิ้งนครเกษมไว้ โดยคงตึกแถวส่วนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ และอย่างช้าผู้เช่าคนสุดท้ายของเวิ้งจะต้องออกไปภายในเดือนตุลาคมนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับย่านเก่าแก่ อาจทำให้พื้นที่สะดวกสบายขึ้น แต่วิถีชีวิตก็ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป
"ทุกอย่างต้องเทรดออฟ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่า การจัดระเบียบ แน่นอนเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบให้แก่ชุมชนที่มีอยู่เดิม แต่จะรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราตีค่าให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นมากน้อยขนาดไหน" กิตติพงศ์ เตชะยืนยง เจ้าของบริษัท ธีระมิวสิค พูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ย่านดนตรีเวิ้งฯ ต้องปิดตัวลง
ไม่ใช่เพียงเวิ้งนครเกษม หากหลายพื้นที่ของกรุงเทพชั้นในกำลังเปลี่ยนแปลงในนามของความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทั้งสัจธรรมและวัฏจักรของการพัฒนาพื้นที่เมืองซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แต่คำถามของคนที่ใช้ชีวิตผูกพันกับย่านเก่าแก่ คือพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาจนมีระเบียบและสะดวกสบาย แต่ไร้ภาพชีวิตของผู้คนที่บุกเบิกย่านนี้มาจะเหลือเสน่ห์อะไรให้จดจำ