วันนี้ ( 16 ก.ค.2559 ) การปลดลูกจ้างเหมาค่าแรงประมาณ 900 คน ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ "จากกันด้วยใจ" โดยอ้างเหตุผลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก
นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง หากการปลดเกิดจากผลกระทบอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเทคโนโลยีมาทดแทนคน
ศ.พิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลิกจ้างของนายจ้างไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรให้ความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและสังคม กรณีดังกล่าวเห็นว่าบริษัทแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องนายจ้าง ทั้งที่การเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องเกิดขึ้นทุกระดับของนายจ้างและลูกจ้าง
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานยังตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทดังกล่าวติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีรายได้สูงสุดกว่า 400,000 ล้านบาท และผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 มากเกือบ 30,000 ล้านบาท จึงไม่สอดคล้องกับเหตุผลภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงทุกรูปแบบในทุกกระบวนการผลิต และหามาตรการรองรับผลกระทบการเลิกจ้างแรงงานจากอุตสาหกรรม 4.0 เพราะที่ผ่านมากฎหมาย ไม่ได้แยกสิทธิของลูกจ้างประจำกับลูกจ้างเหมาค่าแรงอย่างชัดเจน