วันนี้ (31 ก.ค.2559) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า จัดเสวนา "การป้องกันและปราบปรามปัญหาภัยแทรกซ้อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ กร.อมน. ภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขภันแทรกซ้อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน. กล่าวถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงกว่า 12 ปีที่ผ่านมา รวมมากกว่า 15,000 ครั้ง เป็นเหตุความมั่นคง 9,300 ครั้ง โดยเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน โดยพบว่า 1 ใน 3 มาจากปัญหาภัยแทรกซ้อน คือ ยาเสพติด การลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน ค้ามนุษย์ ขบวนการตัดไม้ทำลายป่า
รัฐบาลพยามยามแก้ปัญหาใน 7 ประเด็นสำคัญคือ 1.การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงการหยุดภัยแทรกซ้อนให้ได้ 2. อำนาจความเป็นธรรม 3.เสริมสร้างความเข้าใจ 4. การศึกษาศิลปะและวัฒนธรรม 5.พัฒนาโครสร้างพื้นฐานและคุณภาพชีวิต 6. พัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ 7.การพูดคุยเจรจา โดยมุ่งที่จะหยุดเงื่อนไขทั้งปวง เพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
พ.อ.จตุพร กลัมพสุต หัวหน้าชุดปฎิบัติการปราบปรามภัยแทรก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ภัยแทรกซ้อนในพื้นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งเกื้อกูลให้ผู้ก่อการได้ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งก็คือ การได้รับการสนับสนุนด้วยเงิน ค่าคุ้มครอง เงินอำพรางการบริจาค และเงินที่เรียกเก็บจากการได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนใดๆ โดยใช้ประโยชน์จากข่าวสารทำให้เข้าใจว่ารัฐอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการทุจริตและได้ประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมาย หรือรัฐส่งเสริมเพื่อบ่อนทำลาย เยาวชนและประชาชนในพื้นที่
พ.อ.จตุพร ระบุว่า ภัยแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ ยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขให้สำเร็จ ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาได้ก็จะมีผลสะท้อนว่าปัญหาความรุนแรงลดลง ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ศรัทธามากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาการลับลอบตัดไม้ ก็ถือเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายเรื่องทั้ง คน และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องภัยแล้ง ไฟป่า และที่ดินทำกิน โดยสังเกตได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาไฟป่าเพิ่มมากขึ้นและผลพวงจากการตัดไม้ทำลายป่า คือปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชน
รวมถึง ปัญหาเกี่ยวการพนัน ขณะที่มีผู้เข้าไปอยู่ในวงจรเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะหวยจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อมีผู้ติดการพนันและไม่มีการจ่ายหนี้ ก็จะมีการบังคับให้ก่ออาชญากรรมเป็นการตอบแทน
ด้านนายสมมาตร มะมุนิ นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า เหตุรุนแรงในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการปรับแผนทำงานของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้ทหารในพื้นที่แก้ปัญหาเพราะเข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ส่วนปัญหาภัยแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าสินค้าหนีภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้มีผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งต้องค้นหาให้ได้และต้องตัดวงจรนี้
มูฮำหมัดอายุบ ปาทาน ประธานสมาคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ไม่ควรมองปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้เพียงในช่วง 12 ปี ที่ผ่านมา เพราะกระบวนการพูดคุยสันติภาพยังต้องดำเนินต่อไปแต่ส่วนที่สำคัญกว่าคือ จะทำอย่างไรกับคนที่เห็นต่างจากรัฐว่า สามารถพูดคุยกันได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง
มูฮำหมัดอายุบ ยังกล่าวถึงภาคประชาสังคม (CSO) ว่า จุดหลักคือ ภาครัฐต้องไม่ถือปืนและไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าภาคประชาสังคม กลุ่มหนึ่งเอียงข้างรัฐ กลุ่มหนึ่งเอียงข้างคนเห็นต่าง กลุ่มหนึ่งอยู่ตรงกลาง แต่ทั้ง 3 กลุ่มจะต้องเห็นด้วยเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง ภาคประชาสังคมจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง
"การคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องยุทธวิธีแล้วสถานการณ์ในภาคใต้จะลดลง มันมีอะไรมากกว่าที่ไม่ได้พูดถึง อย่าไปดูด้านเดียว อีกเรื่องคือปฏเสธไม่ได้ว่ามีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างเยอะ เป็นหน้าที่ที่ต้องทำความเข้าใจเรื่ององค์กรระหว่างประเทศ พลังของภาคประชาสังคมช่วยทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศได้ ผมดีใจที่เห็นเวทีการพูดคุยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเยอะขึ้นมันสะท้อนว่า เรามีภูมิคุ้มกันในการแลกเปลี่ยน ความคิดกัน" มูฮำหมัดอายุบ กล่าว