สมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส พระสังฆราชแห่งกรุงโรม และ พระประมุขแห่งพระคริสตจักรโรมันคาทอลิก สิ้นพระชนม์ด้วยพระชันษา 88 ปี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 07.35 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครรัฐวาติกัน ณ ที่ประทับในพระวิหาร Casa Santa Marta
การประกาศการสิ้นพระชนม์มีขึ้นไม่ถึงหนึ่งวันหลังจากที่พระองค์ทรงปรากฏพระองค์เหนือจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์เนื่องในวันอีสเตอร์ แม้จะมิได้เป็นผู้นำในการประกอบพิธีมิสซาที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์ตามปกติเนื่องด้วยอาการประชวร แต่พระองค์ทรงปรากฏพระองค์ในช่วงท้ายของพิธีเพื่อทรงประทานคำอวยพร

ในอาสนวิหารเซนต์สตีเฟนในเวียนนาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025
ในอาสนวิหารเซนต์สตีเฟนในเวียนนาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025
ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ทรงรับสั่งให้จัดพิธีพระศพอย่างเรียบง่าย และพระองค์ยังทรงถือเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกในรอบมากกว่า 100 ปีที่มีการฝังพระศพนอกเขตวาติกัน โดยจะฝังไว้ ณ มหาวิหารเซนต์ แมรี เมเจอร์ ในกรุงโรม สถานที่ที่มีความหมายต่อพระองค์ เนื่องจากพระองค์มักไปอธิษฐานต่อหน้าภาพพระแม่มารี Salus Populi Romani เป็นประจำ
การสิ้นพระชนม์ของประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก สร้างความโศกเศร้าให้กับคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก อาทิ ที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ มีผู้คนจำนวนมากมาร่วมกันสวดภาวนา ที่ฝรั่งเศสชาวคาทอลิกร่วมพิธีมิสซาเพื่อร่วมรำลึกถึงพระสันตปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ ณ มหาวิหารนอเทรอดามในกรุงปารีส

ขณะที่อาร์เจนตินาซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ประกาศลดธงครึ่งเสาและประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วัน เพื่อร่วมไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นพระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ไม่ได้มาจากยุโรปในรอบ 1,300 ปี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือพระนามเดิม ฮอร์เค มาริโอ แบร์โกกลิโอ ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1936 ณ กรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา พระองค์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็น พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 แห่งพระศาสนจักร เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 2013 ต่อจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่ง

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น พระสันตะปาปาองค์แรก คือ นักบุญเปโตร และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ตำแหน่งพระสันตะปาปาก็ได้รับการสืบทอดอย่างต่อเนื่อง จนถึง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในปัจจุบัน
สมเด็จพระสันตะปาปา 10 พระองค์ล่าสุด แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก
รายนามสมเด็จพระสันตะปาปา 10 พระองค์ล่าสุด แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก (เรียงจากปัจจุบันย้อนกลับไป)
1. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ดำรงตำแหน่ง 2013 - สิ้นพระชนม์ (21 เม.ย.)
2. สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (Pope Benedict XVI) ดำรงตำแหน่ง 2005 – 2013
3. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ดำรงตำแหน่ง: 1978 – 2005
4. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 1 (Pope John Paul I) ดำรงตำแหน่ง: 1978 (เพียง 33 วัน)
5. สมเด็จพระสันตะปาปาปอล ที่ 6 (Pope Paul VI) ดำรงตำแหน่ง: 1963 – 1978
6. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 (Pope John XXIII) ดำรงตำแหน่ง: 1958 – 1963
7. สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุส ที่ 12 (Pope Pius XII) ดำรงตำแหน่ง: 1939 – 1958
8. สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุส ที่ 11 (Pope Pius XI) ดำรงตำแหน่ง: 1922 – 1939
9. สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 15 (Pope Benedict XV) ดำรงตำแหน่ง: 1914 – 1922
10. สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุส ที่ 10 (Pope Pius X) ดำรงตำแหน่ง: 1903 – 1914
อ้างอิง BBC
พระสันตะปาปา องค์ต่อไป จะได้รับเลือกอย่างไร
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา "สิ้นพระชนม์" หรือ "ทรงสละตำแหน่งประมุข" สำนักวาติกันจะดำเนินกระบวนการสรรหา "สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่" ผ่านการประชุมลับของ คณะนักบวชสมณศักดิ์สูง หรือ พระคาร์ดินัล เรียกว่า คองเคลฟ (Conclave) กระบวนการนี้ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่ยุคกลาง
พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ที่จะได้รับเลือกจะถือเป็น "พระสันตะปาปาพระองค์ที่ 267" แห่งพระคริสตจักรโรมันคาทอลิก ตามทฤษฎีชายชาวคาทอลิกที่รับศีลล้างบาป มีสิทธิ์รับเลือกตั้งได้แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ที่ได้รับเลือกมักจะมาจากกลุ่ม พระคาร์ดินัล และพระคาร์ดินัลเป็นคนกลุ่มเดียวที่จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งด้วย
จำนวนพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้ง "พระสันตะปาปา" จะจำกัดไว้ที่ 120 รูป แต่ปัจจุบันทั่วโลกมีพระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปี 138 รูป จาก 252 รูป ซึ่ง พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกจะเดินทางมาร่วมประชุมลับที่สำนักวาติกัน วันแรกของการประชุมจะจัดพิธีมิสซา ภายในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ จากนั้นจะรวมตัวกันที่ โบสถ์น้อยซิสทีน ซึ่งพระคาร์ดินัลจะไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้
พระคาร์ดินัลจะลงคะแนนตั้งแต่วันแรกของการประชุมในโบสถ์น้อย วันที่ 2 เป็นต้นไป การลงคะแนนจะลงช่วงเช้า 2 รอบ และ ช่วงบ่าย 2 รอบ การลงคะแนนเสียงจะจัดขึ้นจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนเสียง "ขาดลอย" หากยังไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงขาดลอย องค์ประชุมจะหยุดพักในวันที่ 3 หากการลงคะแนนผ่านไป 33 รอบ และ ยังไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือกผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 คน จะเข้าสู่การลงคะแนน ใน "รอบตัดสิน"
ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประชุมลงคะแนนเสียงนานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ ตลอดการประชุมลับจะเผาทำลายบัตรลงคะแนนเสียงวันละ 2 ครั้ง หาก "ควันเป็นสีดำ" หมายถึง ที่ประชุมยังไม่มีมติชี้ขาดในการลงคะแนน หาก "ควันเป็นสีขาว" หมายถึง ที่ประชุมเลือก "พระสันตะปาปาได้แล้ว" ผู้ได้รับการลงคะแนนจะถูกถามถึงความสมัครใจในการดำรงตำแหน่งนี้
เมื่อพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ตอบรับจะนำไปสู่ "การเลือกพระนาม" และ "เปลี่ยนฉลองพระองค์ใหม่" เป็นชุดทางการประมุขศาสนจักรต่อไป พระคาร์ดินัลจะประกาศต่อหน้าสาธารณชนบริเวณจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ว่า "habemus papam" หรือ "เรามีพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่แล้ว" พระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะปรากฏพระองค์บนระเบียงเป็นครั้งแรก และ ประทานพรเป็นภาษาละตินตามธรรมเนียม ว่า "urbi et orbi"
อ่านข่าว : ทั่วโลกอาลัย "โป๊ปฟรานซิส" ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก
จากบัวโนสไอเรสสู่วาติกัน “โป๊ปฟราสซิส” พระผู้ทรงเปลี่ยนแปลงศาสนจักร