ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วินาศกรรม 7 จังหวัดกับผลประชามติในสามจังหวัดชายแดนใต้

ภูมิภาค
17 ส.ค. 59
22:13
785
Logo Thai PBS
วินาศกรรม 7 จังหวัดกับผลประชามติในสามจังหวัดชายแดนใต้
เจ้าหน้าที่ขยายผลควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยใน จ.ปัตตานี หลังจากผู้ต้องหาคดีลอบวางระเบิดใน จ.สุราษฎร์ธานี ให้การซัดทอดว่าเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (17 ส.ค.2559) เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมโรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชาย อาชีพขับรถรับจ้าง ภรรยาทำงานในโรงพยาบาลหนองจิก การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนายมูหะมัดรอสะดี ปาเนาะ ผู้ต้องสงสัยลอบวางระเบิดใน จ.สุราษฎร์ธานี ให้การซัดทอดว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงใน จ.ปัตตานี เมื่อหลายปีก่อน โดยผู้ต้องสงสัยรายนี้ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำเพิ่มเติมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ก่อนหน้านี้ ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอของผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดใน จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2559 พบว่าตรงกับนายอาหามะ เลงฮะ ผู้ต้องหาในคดีชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547

การก่อเหตุวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นมาก เหตุเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือใน ต.บาราเฮาะ อ.เมืองปัตตานี และเหตุเผากล้องวงจรปิดใน อ.ยะรัง เสียหายรวม 4 จุดเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ (17 ส.ค.2559) นับเป็นเหตุความวุ่นวายต่อเนื่องล่าสุด

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้พบว่าในช่วง 10 วันแรกของเดือนสิงหาคม ทั้งก่อนและหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เกิดเหตุความไม่สงบถึง 80 ครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงพลังสะสมของการก่อเหตุรุนแรงก่อนขยายออกนอกพื้นที่

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มขบวนการจะใช้มาตรการทางทหารในพื้นที่อื่นๆ เพื่อกดดันให้การแก้ปัญหาภาคใต้ และการพูดคุยสันติสุขเดินหน้า

"ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเมืองอยู่แล้วในตัวของมันเอง จึงเชื่อมโยงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เพื่อเพิ่มพลังต่อรอง เหตุความไม่สงบไม่ได้เป็นเรื่องของการทหารอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเมืองภายในพื้นที่ด้วย การเมืองกับการทหารเป็นของคู่กัน ถ้าการเมืองตีบตัน การทหารก็จะขยายออก" ผศ.ศรีสมภพกล่าว

ขณะที่นายมังโสด หมะเต๊ะ ประธานองค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของบางคนที่ผูกโยงความเหตุรุนแรงในช่วงนี้เข้ากับผลการลงประชามติของคนในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธว่า ตัวแทนองค์กรทั้ง 34 องค์กร ไม่ได้มีบิดเบือนรัฐธรรมนูญตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่ากังวลในประเด็นศาสนา การศึกษา และสาธารณสุข ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ แต่ก็พร้อมยอมรับเสียงส่วนใหญ่ โดยจะติดตามการออกกฎหมายลูกว่าได้รับการแก้ไขตามความกังวลของประชาชนหรือไม่

"อยากให้สังคมรับทราบว่า เหตุผลที่คนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดจากการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายประชาชนที่ทำงานเรื่องนี้ทำงานโดยนำเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไปชี้แจงประชาชนตรงๆ ไม่ได้มีการบิดเบือนมาตราใดมาตราหนึ่งเลย" นายมังโสดกล่าว

ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ายืนยันว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติฉบับนี้ไม่ได้ปิดกันการนับถือศาสนา หรือการประกอบศาสนกิจอย่างที่มีการปล่อยข่าวลือ และขอให้หน่วยงานต่างๆ เร่งทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อป้องกันการนำประเด็นนี้ไปใช้เป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุรุนแรง

ด้านนายอาซีส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาด้านมนุษยชน สมาคมยุวชนมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ตะวันตกที่มองว่า กระบวนการบีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพก่อเหตุรุนแรงใน 7 จังหวัดภาคใต้เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น ประชาชนควรต้องตั้งคำถามว่า หากกระบวนการบีอาร์เอ็นขยายพื้นที่ก่อเหตุมายัง 7 จังหวัดแล้วจะเกิดประโยชน์ในด้านใด ดังนั้นจึงควรวิเคราะห์ในเชิงลึก เพราะหากภายหลังเกิดความขัดแย้งไม่ว่าจะในเรื่องใด แล้วเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกจะอันตรายอย่างยิ่งจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามจับกุม ผู้กระทำผิดให้ได้โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง