วันนี้ (22 ส.ค.2559) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2559 โดยมีผู้แทนจาก 5 กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559
ทั้งนี้ 5 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นในประเทศไทย พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรเพิ่มขึ้นจากประมาณ 90,000 คน ในปี 2543 เป็น 104,289 คน ในปี 2558 ในจำนวนนี้เป็นการคลอดบุตรโดยวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,988 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา ยังพบว่าอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันจากการสมรสในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายระหว่างปีการศึกษา 2548-2555 เพิ่มขึ้น การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมยังทำให้เกิดปัญหาเด็กอ่อนถูกทอดทิ้งอีกด้วย
ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ตรา พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2559 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมค่านิยมการรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ชะลอการมีเพศสัมพันธ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย กรณีที่เกิดการตั้งครรภ์จะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม
ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นขึ้นตามมาตรา 11 ของกฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการฯได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกในวันนี้ (22 ส.ค.) และมีมติในประเด็นที่สำคัญคือ
-เห็นชอบระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยให้เสนอชื่อผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าสู่การสรรหาด้วย
-เห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบและแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามมติดังกล่าวให้เสร็จภายใน 3 เดือน